ถ้วยแก้ว ๒ ใบ


    ถ้วยแก้ว ๒ ใบ รูปสัณฐานต่างกัน ลายต่างกัน ขอให้ทราบว่า แท้ที่จริงแล้วรูปภายในก็ไม่พ้นจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งเป็นรูปที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ ถ้วย จาน ชาม เครื่องใช้ทุกสิ่งทุกอย่าง เสื้อผ้า อาหาร ที่พอใจไม่พอใจ ในวันหนึ่งวันหนึ่งก็ไม่พ้นจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม นั่นเอง ถ้าผู้ที่ระลึกลักษณะของรูปภายใน รูปภายนอก ก็ย่อมจะรู้ชัด ในสภาพของความเป็นธาตุ ทางกายที่กระทบปรากฏ ไม่ว่าภายในหรือภายนอก ก็เพียงเท่านั้น คือเป็นธาตุภายใน ดินน้ำไฟลมภายใน ดินน้ำไฟลมภายนอก วันหนึ่งวันหนึ่ง โลกหนึ่ง ที่มีชีวิต เป็นไปในวันหนึ่งวันหนึ่ง ก็ธาตุภายในดินน้ำไฟลมภายใน ดินน้ำลมภายนอก แต่ว่าเป็นปัจจัยให้เกิดความแช่มชื่นบ้าง ความโทมนัสบ้าง ความชอบบ้าง ความไม่ชอบบ้างได้ ด้วยอำนาจของกิเลสที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นถ้วยแก้ว ๒ ใบ รูปสัณฐานต่างกัน ลายต่างกัน เป็นปัจจัยให้เกิดความชอบ และความไม่ชอบได้ในถ้วยแก้ว ๒ ใบนั้น ถ้าถูกอัธยาศัยกับใบไหน ความชอบก็เกิดขึ้น ไม่ถูกอัธยาศัยกับสัณฐานของอีกใบหนึ่ง กับลวดลายสัณฐานของอีกใบหนึ่ง ความไม่ชอบก็เกิดขึ้น เพียงชั่วตาเห็น ก็ยังนำมาซึ่งความแช่มชื่นหรือความโทมนัสได้ ขอให้เห็นความไวของกิเลสที่มีอยู่ในใจที่พร้อมที่จะรับสิ่งที่กระทบ เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้างทางตา ทั้งหูก็เหมือนกัน สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นปรากฏเฉพาะทางหู การที่มีสัญญาจดจำไว้ว่าเป็นเสียงคนนั้นเสียงคนนี้สภาพที่รู้อย่างนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แต่ลักษณะของเสียงก็เป็นแต่เพียงความกังวาลของปฐวีธาตุที่แข็งเกิดปรากฏกระทบทางหู ปรากฎทางหูเท่านั้น ไม่กระทบทวารอื่น ปรากฏทางหูนิดเดียวแล้วก็หมดไป เกินกว่าที่จะเป็นเจ้าของ หรือว่าเกินกว่าที่จะไปยึดไปจับว่าเป็นของเราได้ ไม่ใช่สภาพที่เป็นตัวตน ไม่ใช่สภาพที่เป็นสัตว์เป็นบุคคล แต่แม้กระนั้น ความเข้าใจในอรรถ ถ้าเป็นเสียงสรรเสริญ เสียงยกย่อง เสียงชมเชย ก็ทำให้เชื้อที่มีอยู่ในใจ กิเลสที่หนาแน่นพร้อมที่จะเกิดได้ทันทีเป็นความยินดีบ้าง เป็นความยินร้ายบ้าง เป็นความแช่มชื่นบ้าง เป็นความโทมนัสบ้าง ความเป็นปัจจัยของสิ่งที่กระทบ ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่เพียงนึก แต่ว่าผู้เจริญสติรู้ชัดในลักษณะของนาม และรูปที่ปรากฏ แล้วก็พิจารณา มีความละเอียด มีความคม มีความไวขึ้น เพราะเหตุว่ารู้ลักษณะว่า ชอบไม่ใช่เห็น ชอบไม่ใช่ได้ยิน เป็นลักษณะคนละชนิด เกิดขึ้นเพราะกระทบรู้สิ่งที่ปรากฏผ่านตาในขณะใด ทางหูในขณะใด ตรงตามที่ท่านได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฏก ไม่ว่าจะเป็นความแช่มชื่นหรือความไม่แช่มชื่นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุว่ามีหู มีเสียงมากระทบ มีสีมากระทบ ทั้งสิ้น นี่ก็เป็นเรื่องที่ผู้เจริญสติปัฏฐานก็จะรู้ได้แล้วก็ละคลายการที่ไม่รู้ การที่หลงยึดถือนามนั้นบ้างรูปนี้บ้าง ว่าเป็นตัวตน แต่สิ่งเหล่านี้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าไม่รู้ ไม่ละ ไม่มีโอกาสเลยที่ไม่รู้แล้วจะละได้ แล้วความรู้ก็ต้องเป็นความรู้ที่มากขึ้น เพิ่มขึ้นเจริญขึ้นด้วยจึงจะละได้ไม่ใช่นิดๆ หน่อยๆ นะคะ ก็ไปรู้ผิดๆ ถูกๆ โดยที่ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงแล้วก็ไม่ตรงกับที่ได้ทรงแสดงไว้


    หมายเลข 5452
    2 ส.ค. 2567