กรรมเป็นเหตุให้เกิดผลหลังปฏิสนธิจิตดับไปมากมาย
ผู้ฟัง กุศลจิตเกิดคือการทำบุญใช่ หรือไม่
ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะโดยขั้นฟังที่เรากำลังกล่าวถึงเรื่องของจิต ก็คือให้เข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้มีสภาพธรรมที่เป็นจิต ได้ยินแต่ชื่อมานานแล้ว และขณะนี้จิตก็เกิดดับไม่เคยขาดเลย แต่กว่าจะเข้าถึง หรือค่อยๆ เข้าใจในความเป็นจริงว่าเป็นจิตแต่ละประเภท ซึ่งไม่ใช่จิตเดียวเกิดขึ้นตอนเกิด แล้วก็ไปดับตอนตาย ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ว่าจิตก็เกิดขึ้นสืบต่อจากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดก็ตาม ที่เกิดต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใด ถ้ากล่าวถึงชาติหมายความถึงกุศล อกุศล วิบาก กิริยา ถ้ากล่าวถึงภูมิ หมายความถึงระดับของจิต ไม่ใช่กล่าวถึงกุศล อกุศล วิบาก กิริยา เพราะฉะนั้นต้องทราบด้วยว่า เวลาที่กล่าวถึงจิต เราจะกล่าวโดยนัยใด สำหรับวันนี้ก็จะกล่าวโดยนัยของการเกิดขึ้นของจิตว่าต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ คือเป็นเหตุ ได้แก่เป็นกุศลเหตุที่ดี หรือเป็นอกุศลเหตุที่ไม่ดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เกิดผลภายหลังพร้อมกันไม่ได้เลย เพราะว่าจิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ก็สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นวิบากคือเป็นผลของตนที่ได้กระทำเหตุไว้ เช่น อกุศลกรรมก็เป็นเหตุให้อกุศลวิบากเกิด กุศลกรรมก็เป็นเหตุให้กุศลวิบากเกิด ทุกคนอยากได้กุศลวิบากแน่ๆ ใช่ หรือไม่ แต่เหตุทำ หรือไม่ หรือว่า เพียงแต่อยากได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่ถ้าเราศึกษาเหตุ และผล เรื่องสภาพธรรมก็จะทำให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น และความเข้าใจนั้นเองก็จะเป็นปัจจัยให้มีกุศลในวันหนึ่งๆ มากกว่าเดิมซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรเลย
เพราะฉะนั้น ในวันนี้ก็ได้ทราบเรื่องของวิบาก ตั้งแต่เกิด ขณะเดียวไม่พอใช่ หรือไม่ ไม่พอแน่ กรรมอะไรจะให้ผลเพียงแค่วิบากขณะเดียวเกิดขึ้น ต้องให้ผลมากกว่านั้นแน่ เพราะจริงๆ แล้ว กว่ากรรมหนึ่งกรรมใดจะสำเร็จลงไปได้ ก็ต้องอาศัยจิตประเภทนั้นๆ มากขณะ ไม่ใช่เพียงขณะเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นปัจจัยให้ผลเกิด ก็แล้วแต่ประเภทของกรรม บางคนเกิดมาอายุสั้นมาก บางคนก็มีอายุยืนยาวมาก นั่นก็แล้วแต่ว่ากรรมซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้ดำรงความเป็นบุคคลนั้นไว้มากน้อยเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไป จิตขณะต่อไป ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิดนึก แต่กรรมจะทำให้จิตขณะต่อไปเป็นวิบากประเภทเดียวกันเลย เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ จนกว่าจะถึงขณะสุดท้ายของจิตคือจุติ แล้วก็สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น แต่ระหว่างที่ยังไม่ตาย จิตที่เกิดดับสืบต่อทำภวังคกิจ "ภวังค์" มาจากคำว่า ภพ หรือ ภว กับ อังคะ ถ้าเข้าใจภาษาไทยก็ไม่ยากเลย ดำรงภพชาติการเป็นบุคคลนั้นไว้ ขณะนี้มีภวังคจิต หรือไม่ ยังไม่สิ้นสุด ยังไม่ถึงขณะสุดท้าย เปลี่ยนสภาพจากเป็นมนุษย์ให้เป็นเทวดาได้ หรือไม่ ในชาตินี้ ไม่ได้ เพราะว่ากรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ยังไม่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นยังต้องเป็นบุคคลนี้ต่อไปจนกว่าจะถึงกาลที่จะต้องสิ้นสุดของกรรม
แต่ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ กรรมก็ยังให้ผลด้วย คือทำให้มีจักขุปสาท สำหรับจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น ทำให้เกิดโสตปสาทสำหรับกาลที่จิตได้ยินจะเกิดขึ้นได้ยินเสียง เพราะฉะนั้นตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม ผลก็คือว่าเป็นปัจจัยให้จิตที่เห็นเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่ดีก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบาก ทางหูได้ยินเสียงที่ดีเป็นกุศลวิบาก ได้ยินเสียงที่ไม่ดีเป็นอกุศลวิบาก ทางจมูกก็มีทั้งกลิ่นหอมกลิ่นเหม็น วาระใดได้กลิ่นที่ดีก็เป็นกุศลวิบาก วาระใดที่ได้กลิ่นไม่ดีก็คืออกุศลวิบาก ทางลิ้น รสก็มีมากมาย วาระใดที่ลิ้มรสที่ดีก็เป็นกุศลวิบาก วาระใดที่ลิ้มรสไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบาก ทางกายก็มีทั้งสุข และทุกข์ที่กระทบ เพราะฉะนั้นขณะใดที่กระทบแล้วมีความรู้สึกเป็นสุขทางกาย ขณะนั้นเป็นกุศลวิบาก ถ้าเป็นทุกข์ทางกาย ปวด เจ็บ เมื่อย หรืออะไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น เราก็จะรู้ได้ว่าใครทำ ผลที่ได้รับทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง วาระที่ดี ใครทำ วาระที่ไม่ดี ใครทำ ก็คือทำเอง ตัวเองทำเอง เป็นเหตุเองให้เกิดผลเอง
ที่มา ...