จิตปรมัตถ์ไม่เป็นกรรม แต่เจตนาเจตสิกเป็นกรรม


    จิตปรมัตถ์เป็นกรรมหรือเปล่าคะ ?

    จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ จิตเป็นสังขารธรรม ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเกิดร่วมด้วย แล้วแต่จะเป็นจิตประเภทใด จะมีเจตสิกเกิดร่วมกับจิตนั้นกี่ประเภท แต่จิตเป็นเพียงเป็นใหญ่ในการรู้

    ในขณะที่เห็น จิตเห็น แต่เวลาที่รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเฉย ๆ ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง คือเวทนาเจตสิก ในขณะที่เห็นและจำได้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร สภาพที่จำก็ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง คือสัญญาเจตสิก

    เพราะฉะนั้นจิตไม่ใช่กรรม ถ้ากล่าวโดยกว้าง อาจจะกล่าวได้ว่าจิตใดที่เป็นกุศลหรือจิตใดที่เป็นอกุศล ทำให้เกิดการกระทำที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรมจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นจิตตุปปาท เป็นกรรม แต่ถ้ากล่าวโดยเจาะจงแล้ว จิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ไม่ใช่ตัวกรรม ไม่ใช่สภาพที่เป็นสภาพที่กระทำกรรม แต่ว่าเจตสิกดวงหนึ่งในเจตสิก ๕๒ ดวง ซึ่งได้แก่เจตนาเจตสิกเป็นกรรม เพราะเหตุว่าเจตนาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะจงใจ ตั้งใจขวนขวาย หรือมุ่งหวัง คือจัดสรรให้ธรรมที่สัมปยุตต์กับตนเป็นไปในอารมณ์

    ซึ่งข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ปริเฉทที่ ๒แสดงลักษณะของเจตนาเจตสิก มีข้อความว่า

    สภาพธรรมที่ชื่อว่า“เจตนา” เพราะอรรถว่ามุ่งหวังคือจัดสรรให้ธรรมซึ่งสัมปยุตต์กับตนเป็นไปในอารมณ์ หรือถึงความขวนขวายในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตธรรม

    ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะคิดนึก จงใจ ตั้งใจที่จะกระทำอะไร ไม่ว่าจะทางกาย หรือทางวาจา ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นสภาพของเจตนาเจตสิกที่จงใจตั้งใจขวนขวายในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตะเพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะปรุงแต่งนิพพานได้ เพราะเหตุว่านิพพานเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิด


    หมายเลข 5484
    27 ส.ค. 2558