มิคชาลสูตรที่ ๑ - ผู้มีปรกติอยู่ผู้เดียว
ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค มิคชาลสูตรที่ ๑ เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจชัดในพยัญชนะที่ว่า ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว
ณ พระนครสาวัตถี ท่านพระมิคชาละไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลถามว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว ฉะนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรพระเจ้าข้า ภิกษุจึงชื่อว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว และด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่า อยู่ด้วยเพื่อนสอง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร มิคชาละ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจให้เกิดความรัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุยินดีกล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ เมื่อเธอยินดีกล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ ย่อมเกิดความเพลิดเพลิน เมื่อมีความเพลิดเพลิน ก็มีความกำหนัดกล้า เมื่อมีความกำหนัดกล้า ก็มีความเกี่ยวข้อง
ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และมีความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่า ผู้มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง
แล้วก็ต่อไปถึง รูปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ ถึงจะเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าหญ้า และป่าไม้ เงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากลม แต่ชนซึ่งเดินเข้าออก ควรเป็นที่ประกอบกิจของมนุษย์ ผู้ต้องการสงัด สมควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้นั้นยังมีตัณหาเป็นเพื่อนสอง เขายังละตัณหานั้นไม่ได้ ฉะนั้นจึงเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง
โดยนัยที่ตรงกันข้าม พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงว่า สำหรับรูปที่น่ารัก น่าพอใจ น่าปรารถนาทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้นมีอยู่ แต่ว่าภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่หมกมุ่น ไม่ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้จะปะปนกับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ในที่สุดบ้านก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว
ใครทราบว่า ใครกำลังอยู่ผู้เดียว หรือว่าอยู่กับเพื่อนสอง ผู้เจริญสติทราบ จิตที่เป็นโลภะเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วทำอย่างไร จึงจะทิ้งเพื่อนคนนั้นเสียได้ แล้วก็มีปกติอยู่ผู้เดียว ถ้าไม่เจริญสติ ไม่ละกิเลสเป็นลำดับขั้น ก็ไม่มีหนทางอื่นเลย ที่จะเพียงเจริญความสงบ ปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถหมดกิเลสได้