จะหลับหรือตื่น หน้าที่ของจิตก็คือรู้แจ้งอารมณ์


    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวว่าฝันบางครั้งก็มีโทสะเกิดขึ้น ดิฉันมักจะฝันว่าตกหลุมเรื่อยเลยค่ะ ไม่ทราบว่าเป็นอะไร พอตกหลุมปุ๊บก็ตกใจโทสะเกิด แต่บางครังก็ฝันว่าเหาะ ก็คุยกันว่าขณะที่เหาะน่าจะจิตเบาสบาย น่าจะเป็นกุศล ดิฉันว่ามันก็คงไม่น่าจะใช่อีกเหมือนเดิม

    ท่านอาจารย์ คือยังไงก็ตาม เราก็ได้ฝันมาแล้วมาก และก็ยังคงฝันต่อไปตราบใดที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แล้วก็ไม่สามารถจะเลือกฝันได้ด้วย แต่ให้ทราบว่าทุกอย่างการเกิดดับสืบต่อของจิตจะสะสมทุกอย่าง คือที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด ก็ย้ำไปอีกว่าลักษณะของจิตคือเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ จะหลับ จะตื่น จะสนิท จะฝัน จะอะไรก็ตามแต่ จิตต้องเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ไม่รู้ไม่ได้ แล้วก็เป็นประธาน ในขณะนี้ที่สภาพธรรมปรากฏเพราะจิตกำลังรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์นั้น เป็นประธานของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย นี่คือหน้าที่ของจิต และมีอาการเกิดดับสืบต่อปรากฏว่าจะพูดถึงจิตขณะไหนก็มีจิตขณะนั้นที่จะให้เราสามารถที่จะรู้ได้ เข้าใจได้ เป็นลักษณะของจิต และจิตก็เป็นสภาพธรรมที่ต้องมีเหตุปัจจัยจึงเกิด ไม่มีเหตุปัจจัยก็ไม่เกิด ทุกอย่างที่เกิดเราอาจจะไม่ทราบว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้สภาพธรรมนั้นเกิด ผู้รู้ทรงตรัสรู้เหตุปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิด เพราะฉะนั้น ปัจจัยที่ทำให้จิตเกิด ซึ่งขาดไม่ได้เลย คือเจตสิก เป็นนามธรรมซึ่งเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และก็เกิดที่เดียวกัน ที่รูปเดียวกันในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นี่คือการที่เราเริ่มรู้จักจิต เพราะฉะนั้น จิตเห็นเกิดที่ไหน จักขุปสาท เพราะจิตได้ยินจะมาเกิดที่จักขุปสาทได้ไหม ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ก็เห็นได้ว่าทั้งจิต และเจตสิกเกิดร่วมกัน ดับพร้อมกัน และก็เกิดที่เดียวกันด้วย ถ้าเป็นจิตเห็นขณะนี้ อาศัยจักขุปสาทเกิด เจตสิก และจิตเกิดที่จักขุปสาทแล้วดับ เวลาที่จิตได้ยินเกิดขึ้นก็คือจิตซึ่งอาศัยโสตปสาท ทั้งจิต และเจตสิกเกิดรู้เสียง และก็ดับที่จักขุปสาท เกิดที่เดียวกัน และก็ดับที่เดียวกันด้วย

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 24


    หมายเลข 5560
    24 ม.ค. 2567