เจตนาเจตสิกที่เกิดโลกุตตรกุศลจิตเป็นอนันตรกัมมปัจจัย
สำหรับกุศลที่เป็นโลกุตตรกุศลข้อความในอรรถกถาแสดงว่า เป็น “อนันตรกัมมปัจจัย”ได้แก่เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับโลกุตตรกุศลจิต ๔ ดวงคือโสตาปัตติมัคคจิต ๑สกทาคามิมัคคจิต ๑ อนาคามิมัคคจิต ๑อรหัตตมัคคจิต ๑ เป็นปัจจัยใหัผลจิตคือโลกุตตรวิบากจิตเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น เพราะฉะนั้นจึงเป็นอนันตรกัมมปัจจัย
อนันตรคือไม่ระหว่างคั่น
เพราะฉะนั้นเป็นกัมมที่ทำให้ผลคือ วิบากเกิดขึ้นโดยไม่มีระหว่างคั่น
เมื่อโสตาปัตติมัคคจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลยนอกจากโสตาปัตติมัคคผลจิต
เมื่อสกทาคามิมัคคจิตเกิดขึ้นแล้วดับ จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลย นอกจากสกทาคามิผลจิต
เมื่ออนาคามิมัคคจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลย นอกจากอนาคามิผลจิต
เมื่ออรหัตมัคคจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปจิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลย นอกจากอรหัตตผลจิต
เพราะฉะนั้นจึงเป็นอนันตรกัมมปัจจัย เป็นกรรมซึ่งให้ผลทันทีที่กรรมนั้นดับไป โดยที่ไม่มีจิตอื่น ๆ จะเกิดแทรกคั่นได้เลย นี่เป็นการได้รับผลในปัจจุบันชาติของโลกุตตรกุศล
เมื่อโลกุตตรกุศลเกิดขึ้นในชาติไหนโลกุตตรวิบากซึ่งเป็นผลเกิดสืบต่อทันทีในชาตินั้นไม่มีระหว่างคั่น ไม่เหมือนกุศลอื่น กุศลอื่นอาจจะให้ผลในชาตินั้น แต่ไม่ใช่ต่อกันทันที ไม่ว่าทานกุศลหรือศีลกุศลหรือสมถภาวนา ฌานจิตจะเป็นรูปาวจรฌาน ปฐมฌานทุติยฌาน ตติยฌาน จตตุถฌาน หรือปัญจมฌานก็ตาม หรืออรูปฌานกุศลก็ไม่สามารถที่จะให้ผลติดกันสืบต่อกันทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่นเหมือนโลกุตตรกุศล เพราะเหตุว่าผู้ที่ทำกุศลที่จะทำให้เกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใด กรรมนั้นจะให้ผลต่อเมื่อจุติจิตในชาติที่ได้กระทำกรรมนั้นดับไปเสียก่อน ถ้าเป็นมนุษย์ทำกุศลกรรมที่จะทำให้เกิดในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใด จุติจิตต้องดับเสียก่อน แล้วกรรมนั้นจึงจะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดได้
หรือว่าสำหรับรูปาวจรจิตซึ่งเป็นฌานจิต ฌานหนึ่งฌานใดไม่เสื่อม เกิดขึ้นก่อนจุติจิต เมื่อจุติจิตดับ จึงเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในพรหมโลกภูมิหนึ่งภูมิใดได้ เพราะฉะนั้นก็ยังมีจิตอื่นซึ่งคั่นระหว่างกุศลจิต ซึ่งเป็นเหตุ ซึ่งเป็นกัมมปัจจัยและวิบากจิตซึ่งเป็นผลถ้าเป็นโลกียกุศลแต่ถ้าเป็นโลกุตตรกุศลแล้ว ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิ
เพราะฉะนั้นโลกุตตรวิบากจิตจึงเกิดสืบต่อจากโลกุตตรกุศลจิตทันที โดยไม่มีระหว่างคั่น มีนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกับโลกุตตรกุศลจิต แต่เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน คือโลกุตตรกุศลจิต เป็นจิตที่ดับกิเลสแต่โลกุตตรวิบากจิต คือ ผลจิตเป็นจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์โดยดับกิเลสแล้ว
เพราะฉะนั้นก็จะได้ทราบว่า สำหรับโลกุตตรกุศลจิตประเภทเดียวเท่านั้นที่เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยให้ผลทำให้โลกุตตรวิบากจิตเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีจิตอื่นเกิดคั่น ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า หรือว่าไม่ต้องรอถึงชาติต่อไปเลย ทันทีที่โสตาปัตติมัคคจิตดับไป โสตาปัตติผลจิตเกิดต่อ มีนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกับโสตาปัตติมัคคจิต
ถ้าเป็นสกทาคามิมัคคจิตดับไป เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยให้สกทาคมิผลจิตเกิดสืบต่อทันที อนาคามิมัคคจิตและอรหัตมัคคจิตก็โดยนัยเดียวกัน