ปัจจัย ๒๔ สงเคราะห์ลงในปัจจัย ๘ ปัจจัยหรือ ๔ ปัจจัยก็ได้
สำหรับปัจจัย ๒๔ข้อความในอรรถกถาปัญจปกรณ์วรรณนาเนื้อความแห่งปัจจยุตทาระ วินิจฉัยในปัจจนียนัยแสดงว่า
ปัจจัย ๒๔สงเคราะห์ลงในปัจจัย ๘ ปัจจัยคือ
อารัมมณปัจจัย ๑
สหชาตปัจจัย ๑
อุปนิสสยปัจจัย ๑
ปุเรชาตปัจจัย ๑
ปัจฉาชาตปัจจัย ๑
กัมมปัจจัย ๑
อาหารปัจจัย ๑
อินทรียปัจจัย ๑
ข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๘ อธิบายปัจจัย ๒๔ โดยสรุป แสดงว่าปัจจัย ๒๔โดยสรุปหรือปัจจัยทั้งหมดโดยสังเขปมีอยู่ ๔ อย่างเท่านั้น คือ ปัจจัยทั้งหมดรวมอยู่ใน
อารัมมณปัจจัย ๑
อุปนิสสยปัจจัย ๑
กัมมปัจจัย ๑
อัตถิปัจจัย ๑
คือ ย่อลงไปสำหรับปัจจัย ๒๔ ถ้าจะรวมแล้วก็จะได้ในปัจจัย ๘ ปัจจัยก็ได้ หรือสำหรับอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ย่อลงไปจาก ๘ ปัจจัยอีก คือ เพียง ๔ ปัจจัยเท่านั้น
ชอบอย่างไหนคะ อย่างย่อ ๆหรืออย่างละเอียด ๆ ถ้าละเอียดก็ทำให้เห็นสภาพความเป็นปัจจัยละเอียดขึ้น
ที่แสดงปัจจัยว่า ปัจจัย ๒๔ ทั้งหมดโดยสังเขปมีอยู่ ๔ อย่างเท่านั้นคือปัจจัยทั้งหมดรวมอยู่ในอารัมมณปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย กัมมปัจจัยและอัตถิปัจจัย
ก็เพราะเหตุว่าถ้าสภาพธรรมถึงแม้ว่าจะเป็นจิตซึ่งมีจริง ทุกคนมีจิตในขณะนี้ เจตสิกก็มีจริง รูปก็ไม่ใช่มีแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะเท่านั้น มีรูปถึง ๒๘ ประเภทก็ตาม หรือแม้นิพพาน เป็นสิ่งซึ่งมีจริงก็ตาม แต่ถ้าไม่ปรากฏเป็นอารมณ์ ย่อมไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ ไม่มีใครสามารถจะศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมเหล่านั้นได้ว่าสภาพธรรมนี้เป็นรูป สภาพธรรมนั้นเป็นจิต สภาพธรรมนั้นเป็นเจตสิก หรือสภาพธรรมนั้นเป็นนิพพาน
เพราะฉะนั้นที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของปรมัตถธรรมไว้ทั้งหมด ก็เพื่อที่จะให้เป็นอารมณ์ คือเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏและพิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมทั้งหมดจึงเป็นอารัมมณปัจจัย
สำหรับอุปนิสสยปัจจัย ก็โดยที่ว่าแต่ละบุคคลไม่สามารถที่จะฝืนการสะสมของแต่ละบุคคลได้ คนที่มีการสะสมโลภะไว้มาก จะเห็นได้ว่าเป็นผู้ที่พอใจไปเสียทุกอย่างสนุกสนานร่าเริง ไม่ว่าจะเป็นทางตาทางหู ทางจมูก ทางลิ้นทางกายก็เป็นเพราะเหตุว่าสะสมอุปนิสัยที่จะเป็นอย่างนั้น เป็นผู้ที่มากด้วยโลภะ หรือเป็นผู้ที่มากด้วยโทสะหรือเป็นผู้ที่มากด้วยโมหะ หรือเป็นผู้ที่มากด้วยศรัทธา หรือเป็นผู้ที่มากด้วยปัญญา หรือเป็นผู้ที่มากด้วยมานะ หรือเป็นผู้ที่มากด้วยทิฏฐิ ก็แล้วแต่การสะสมซึ่งเป็นอุปนิสัย ไม่สามารถที่จะฝืนที่จะให้ธรรมประเภทอื่นซึ่งไม่ได้สะสมมาเกิดขึ้น
บางท่านก็เห็นทิฏฐิความเห็นผิดของบุคคลอื่น ก็อยากที่จะเกื้อกูลช่วยเหลือให้เขาเบาบางจากความเห็นผิด หรือว่าพ้นจากความเห็นผิดนั้น ๆ แต่ก็ต้องอย่าลืมอุปนิสสยปัจจัย แม้แต่พระผู้มีพระภาคเองก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ นอกจากทรงแสดงพระธรรม เพื่อที่จะให้เป็นอุปนิสสยปัจจัยที่จะสะสมต่อไป ที่จะทำให้ละคลายความเห็นผิดนั้นลง แต่ก็ต้องอาศัยอุปนิสสยปัจจัยที่แต่ละบุคคลจะเป็นบุคคลต่าง ๆ กัน
สำหรับกัมมปัจจัย ก็จะเห็นได้ว่า ความเป็นไปของโลกถ้าจะกล่าวโดยกว้าง หรือจะกล่าวโดยแต่ละบุคคลก็ตาม ย่อมมีกรรมเป็นเหตุ แม้แต่การเกิดขึ้น ก็ยังจะเลือกที่เกิดไม่ได้ว่าจะเกิดที่ไหน และชีวิตแต่ละขณะต่อ ๆ ไป ก็ไม่สามารถที่จะเลือกได้ว่า ไม่อยากจะได้ยินเสียงอย่างนี้ ขออย่าให้ได้ยินก็ไม่ได้ ก็แล้วแต่กรรมซึ่งเป็นเหตุเพราะฉะนั้นโลกก็ย่อมหมุนไป เป็นไปแต่ละขณะ โดยมีกรรมเป็นเหตุ
สำหรับอัตถิปัจจัย ยังไม่ได้กล่าวถึง แต่ก็หมายความว่าสภาพธรรมที่มีเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอย่างอื่นมีขึ้น หรือว่าเกิดขึ้นในขณะนั้น
สำหรับปัจจัยที่เพิ่มขึ้น คือ ปุเรชาตปัจจัย กับปัจฉาชาตปัจจัย ก็แสดงให้เห็นความต่างกัน โดยกาลของการเป็นปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรม เพื่อไม่ให้เข้าใจผิด และการที่จะไม่เข้าใจผิด ต้องตรงกับการปฏิบัติ คือ การอบรมเจริญปัญญาด้วย จึงสามารถจะรู้ตามความเป็นจริง ไม่เข้าใจผิด เช่น รูปที่จะเป็นปัจจัยแก่นาม รูปนั้นต้องเกิดก่อน จึงจะเป็นปุเรชาตปัจจัยไม่ว่าจะเป็นโดยเป็นที่อาศัย หรือโดยเป็นอารมณ์ก็ตาม
สำหรับการแสดงปัจจัยในอรรถกถาปัญจปกรณ์ที่แสดงว่าปัจจัย ๒๔ สงเคราะห์ลงในปัจจัย ๘ ปัจจัย ก็เพิ่มเติมจากข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกาเพียง ๔ ปัจจัยเท่านั้น ชอบอย่างไหนค่ะ อย่างย่อ ๆ หรือว่าอย่างละเอียด ๆ ถ้าละเอียดก็ทำให้เป็นสภาพความเป็นปัจจัยนี้ละเอียดขึ้น
เพราะฉะนั้นอย่าเข้าใจผิดคิดว่าจิตสั่งให้รูปเกิด เพราะเหตุว่าถ้าเป็นจิตสั่งนี้ อะไรเกิดก่อน นามธรรมก็ต้องเกิดก่อน ใช่ไหมคะ แต่นี่ไม่มีเลย เพราะเหตุว่ารูปซึ่งจะเป็นปัจจัยแก่จิตต้องเป็นโดยปุเรชาตปัจจัย
สำหรับปัจฉาชาตปัจจัย คือ นามธรรมเป็นปัจจัยแก่รูปธรรมทั้งหลาย โดยเกิดทีหลังรูปเป็นปัจจัยโดยอุปถัมภ์รูปซึ่งเกิดแล้ว
สำหรับปัจจัยที่เพิ่มขึ้นอีก ๒ ปัจจัย ในอรรถกถาปัญจปกรณ์คืออาหารปัจจัยและอินทรียปัจจัย