อาหารที่ล่วงลำคอลงไปแล้วเป็นไปด้วยอำนาจแห่งธาตุต่าง


    ข้อความต่อไปมีว่า เมื่ออาหารได้ล่วงลงคลองไปแล้วหมายความว่าล่วงลำคอลงไปแล้ว จะได้มีใครเอาภาชนะอะไรมาคอยรอรับก็หาไม่ ที่ตั้งอยู่ได้ก็ด้วยอำนาจแห่งวาโยธาตุนั่นเอง เมื่ออาหารนั้นเข้าไปตั้งอยู่ ๆเช่นนั้นแล้ว จะได้มีใครไปตั้งเตาก่อไฟทำการหุงต้มก็หาไม่ ย่อมสุกด้วยอำนาจแห่งเตโชธาตุเท่านั้น

    ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงกฎของร่างกายในชีวิตประจำวันได้ เป็นปกติทำไปกระทำหน้าที่ไป โดยไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็นใช่ไหม ไม่มีใครสังเกตด้วยว่าเมื่ออาหารที่บริโภคนี้ล่วงลงสู่ลำคอลงไปแล้วนี้ แต่ละธาตุมีหน้าที่ทำอย่างไร

    อาหารที่สุกแล้ว ๆ นั้นจะได้มีใครเอาท่อนไม้เขี่ย หรือเอาไม้เท้าเขี่ยออกมาข้างนอกก็หาไม่ วาโยธาตุนั่นเองทำหน้าที่ขับถ่ายออกมา

    ท่านผู้ฟังทำอะไรบ้างหรือเปล่า ไม่ได้ทำเลย อย่าลืม ธาตุต่าง ๆ ทำหน้าที่ ตั้งแต่เช้าตื่นนอนจนกระทั่งหลับไป

    อาการที่เป็นดังกล่าวมานี้ก็คือวาโยธาตุ มีหน้าที่นำอาหารเข้าไปข้างใน เปลี่ยนแปลง ตะล่อมไว้ กลับไปกลับมา บดให้ละเอียดให้แห้ง ตลอดจนการนำออกมาข้างนอก ทั้งหมดนี้เป็นกิจของวาโยธาตุ

    ปฐวีธาตุทำหน้าที่ค้ำจุนไว้ บดให้ละเอียด ให้เปลี่ยนสภาพไป และให้แห้งด้วย

    อาโปธาตุมีหน้าที่ทำให้เหนียว และรักษาให้เปียกชุ่มตลอดไป

    เตโชธาตุมีหน้าที่ทำอาหารที่เข้าไปข้างในให้สุก

    ยังเหลือธาตุอะไรอีกหรือเปล่าคะ วาโยธาตุ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ ยังเหลือธาตุอะไรอีกไหม

    ถ้าข้อความในอรรถกถาไม่แสดงไว้ ก็คงจะไม่มีใครคิดถึง

    อากาศธาตุ มีหน้าที่แยกธาตุอื่น ๆ ให้เป็นส่วน ๆ มิให้ปะปนกัน ดุจหนทางที่แบ่งเป็นสาย ๆ

    มีธาตุอะไรเหลืออีกไหมคะวิญญาณธาตุ

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    วิญญาณธาตุมีหน้าที่บงการให้รูปธาตุเหล่านั้นทำกิจตามหน้าที่ของตนในกรณีนั้น ๆ

    แต่ว่าตามความเป็นจริง ลักษณะของวิญญาณธาตุเป็นสภาพธรรม เพราะช่างรู้ไปทั่วทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการนั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร สิ่งที่อยู่ข้างในเป็นอะไร และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอะไร เพราะฉะนั้นจึงมีความปรารถนา มีความต้องการที่ทำให้เกิดรูปต่าง ๆ ขึ้นกระทำกิจต่าง ๆ เหล่านั้น เพราะวิญญาณธาตุเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นสมุฏฐานที่ทำให้เกิดรูปที่มีการเคลื่อนไหว และมีการบริโภคอาหาร


    หมายเลข 5633
    27 ส.ค. 2558