การบริโภคอาหารอันเปรียบด้วยเนื้อแห่งบุตร


    ข้อความใน ปปัญจสูทนี แสดงว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องการบริโภคอาหาร อันเปรียบด้วยเนื้อแห่งบุตร ซึ่งในข้อนี้มีอรรถโยชนาโดยสังเขป ด้วยคำอธิบายดังต่อไปนี้

    มีภรรยาสามี ๒ คน อุ้มลูกเดินทางกันดาร อันมีระยะทาง ๑๐๐ โยชน์ ไปด้วยเสบียงเพียงเล็กน้อย เมื่อเดินทางไปได้ ๕๐ โยชน์ คือครึ่งหนึ่ง เสบียงก็หมด สองภรรยาสามีนั้นก็หิวเต็มที่ แล้วพากันนั่งพักอยู่ที่ต้นไม้ มีเงาห่างๆ

    นี่ชีวิตตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าจะพิจารณาแล้วย่อมเห็นกัมมปัจจัยว่า ย่อมให้ผลเกิดขึ้น แม้แต่ที่จะนั่งในยามร้อน ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้วล่ะก็ แม้เงาไม้ก็ยังห่างๆ ไม่สามารถที่จะให้ร่มเงาได้เต็มที่ เพราะเหตุว่าทุกขณะจิต ถ้าพิจารณาในวันหนึ่งๆ จะทราบว่า ขณะใดก็ตามที่อารมณ์ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะนั้นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เดินทาง หลีกเลี่ยงไม่ได้ พบต้นไม้ที่จะนั่งพัก หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้นไม้จะมีเงาห่างหรือว่ามีเงาร่มรื่น ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมความว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นผลของกรรม แต่หลังจากนั้นแล้ว อย่าลืมว่า ไม่ใช่ผลของกรรม พอเริ่มคิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ ทั้งหมด เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตแล้ว ซึ่งไม่ใช่วิบากจิต

    ลำดับนั้น

    นี่ทั้งหิวด้วย เหนื่อยด้วย และก็นั่งพักที่ต้นไม้มีเงาห่างๆ

    ลำดับนั้นสามีจึงกล่าวกับภรรยาว่า ตั้งแต่นี้ไปยังมีระยะทางอีก ๕๐ โยชน์ บ้านหรือนิคมก็ไม่มี เพราะฉะนั้นการงานมีการทำนาและการเลี้ยงโคเป็นต้น ที่บุรุษต้องกระทำอันใดมีอยู่ บัดนี้เราก็ไม่อาจจะทำการงานนั้นได้ เจ้าจงฆ่าเราเสีย กินเนื้อเราครึ่งหนึ่ง แล้วทำเป็นเสบียงทางครึ่งหนึ่ง อุ้มลูกเดินทางไปให้พ้นทางกันดารให้ได้

    นี่คือการที่สามีจะเสียสละ เพราะว่าเมื่อหมดเรี่ยวหมดแรง ไม่สามารถที่จะกระทำหน้าที่ของหัวหน้าครอบครัว ที่จะประกอบกิจการงานต่างๆ ได้แล้ว ก็ควรที่จะตายเสีย แล้วก็ให้ภรรยากินเนื้อครึ่งหนึ่ง แล้วก็ทำเป็นเสบียงทางครึ่งหนึ่ง แล้วก็อุ้มลูกเดินทางไปให้พ้นทางกันดาร

    ฝ่ายภรรยาก็กล่าวกับสามีว่า สิ่งใดที่หญิงควรทำ มีการปั่นด้ายเป็นต้น สิ่งนั้นก็ไม่อาจทำได้ ท่านจงฆ่าเราเสีย กินเนื้อเราครึ่งหนึ่ง ทำเป็นเสบียงทางครึ่งหนึ่ง แล้วจงอุ้มลูกไปให้พ้นทางกันดาร

    นี่คือการอุปมาที่จะให้เห็นว่า อาหารเป็นสิ่งที่จำเป็น แล้วก็ควรจะบริโภคโดยการไม่ติด ละคลายความยินดีลง เพื่อที่จะได้ลดความทุกข์ในการแสวงหา หรือในการเกิดในภพชาติต่อไป

    สามีก็กล่าวกับภรรยาว่า การตายของคนสองคนจะมีขึ้น ด้วยการตายของแม่ เพราะว่าเด็กอ่อนพรากจากแม่แล้ว ก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ เราก็จักได้ลูกอีก อย่าอย่างนั้นเลย เราฆ่าลูกกินเนื้อ แล้วเดินทางกันดารต่อไปเถิด

    ทีแรกก็จะตาย โดยการที่ให้ภรรยากินเนื้อ แล้วก็ภรรยากับลูกก็จะได้มีชีวิตรอด แต่ภรรยาก็บอกว่า เขาเองก็ไม่สามารถจะทำกิจหน้าที่การงานของภรรยาได้ ชีวิตก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นก็ให้กินเนื้อเขา ให้เขาตาย แล้วก็ให้สามีกับลูกรอดต่อไป สามีก็กลับมาคิดอีกว่า ถ้าแม่ตาย ลูกก็ต้องตายด้วย เพราะว่าลูกยังต้องอาศัยแม่เลี้ยง ลูกยังเป็นเด็กอ่อนอยู่ แต่ถ้าฆ่าลูกเสีย ทั้งสองคนรอดไป ก็ยังมีโอกาสที่จะมีลูกอีกได้ เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะฆ่าลูกกินเนื้อเสีย

    ลำดับนั้น แม่ก็บอกลูกว่า เจ้าจงไปหาพ่อ ลูกก็ได้ไปหาพ่อ ลำดับนั้น พ่อก็ว่า เราได้รับทุกข์เป็นอันมากด้วยการนำมา และเลี้ยงโค เป็นต้น ก็ด้วยคิดจะเลี้ยงลูก เราไม่อาจฆ่าลูกได้ เจ้าจงฆ่าลูกของเจ้าเถอะ ว่าแล้วก็บอกลูกว่า เจ้าจงไปหาแม่ ลูกก็ได้ไปหาแม่ แม่ก็กล่าวว่า แม่ต้องการลูก จึงได้รับทุกข์เป็นอันมาก ด้วยการกระทำข้อวัตรต่างๆ มีทำตามเยี่ยงอย่างโค ทำตามเยี่ยงอย่างสุนัข และอ้อนวอนเทวดาเป็นต้น ไม่ต้องพูดถึงการอุ้มท้องประคองครรภ์ ข้าพเจ้าไม่อาจฆ่าลูกได้ แล้วจึงบอกลูกว่า ลูกเอ๋ย เจ้าจงไปหาพ่อ เด็กนั้นก็เวียนไปเวียนมาอยู่ในระหว่างพ่อและแม่อยู่อย่างนี้จนกระทั่งตายเอง ภรรยาสามีได้เห็นลูกตายก็ร้องไห้รำพัน ได้เอาเนื้อของลูกกิน แล้วก็เดินทางไปตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น

    อาหารคือเนื้อแห่งบุตรนั้นของคนทั้งสองนั้น ย่อมไม่ทำให้เกิดความคะนอง ความมัวเมา ความผ่องใสแห่งร่างกาย ความประดับร่างกายแต่อย่างใดเลย เพราะเป็นของน่าเกลียด ด้วยเหตุการณ์ ๙ อย่าง เพียงแต่เพื่อให้ข้ามทางกันดารเท่านั้น

    ถ้ามีคำถามว่า ที่ว่าน่าเกลียดด้วยเหตุการณ์ ๙ อย่างนั้น คืออย่างไร

    ก็มีคำแก้ว่า คือ เป็นเนื้อของผู้มีกำเนิดอย่างเดียวกัน ๑ (คือเป็นเนื้อมนุษย์ด้วยกัน ๑) เป็นเนื้อของญาติ ๑ เป็นเนื้อของบุตร ๑ เป็นเนื้อของบุตรสุดที่รัก ๑ เป็นเนื้อของเด็กอ่อน ๑ เป็นเนื้อดิบ ๑ เป็นเนื้อที่ไม่ควรกิน ๑ เป็นเนื้อที่ไม่เค็ม ๑ เป็นเนื้อที่ไม่ได้ทำให้หอม ๑

    เพราะฉะนั้นภิกษุใดเห็นอาหารเป็นคำๆ เปรียบเหมือนเนื้อแห่งบุตรอย่างนั้น ภิกษุนั้นก็ครอบงำซึ่งความยินดีในอาหารนั้นได้

    อันนี้เป็นอรรถโยชนา ในข้อเปรียบกับเนื้อแห่งบุตรก่อน

    ต่อไปจะบริโภคด้วยความยินดีในอาหารน้อยลงบ้างไหมคะ คือ เพียงให้รู้ว่าเป็นอาหารปัจจัยจริงๆ ขาดไม่ได้ เพราะเหตุว่าชีวิตยังต้องดำรงอยู่เพื่อที่จะเจริญกุศล ที่จะรู้แจ้งในอริยสัจธรรม เท่านั้นเอง จะเย็นไป จะร้อนไป จะเปรี้ยวไป จะหวานไป จะเค็มไป ก็เป็นอาหารปัจจัย หรือว่ากลับไปจะปรุงให้อร่อยเหมือนเดิม

    นี่ก็เป็นสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง ตราบใดที่ยังมีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะยังไม่ใช่ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงขั้นที่จะดับความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ก็ต้องเป็นผู้ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นการที่จะละสังสารวัฏฏ์ สามารถที่จะเหลือการเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ ไม่ใช่โดยสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติว่า ยังมีความยินดีพอใจในนามธรรม ในรูปธรรม ในความเป็นตัวตนหนาแน่น เหนียวแน่นมากเพียงไร

    ด้วยเหตุนี้การที่ละสังสารวัฏฏ์ได้จริงๆ จึงต้องเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้นที่เกิดขึ้น

    ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหม ในเรื่องของความยินดีในกพฬีการาหาร


    หมายเลข 5646
    19 ก.ย. 2566