ความทุกข์ของชาติ ชรา มรณะ


    เพราะเหตุว่านำมาซึ่งความเร่าร้อน การเกิดขึ้นและดับไป

    ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะไม่ได้พิจารณาเลยว่าการเกิดขึ้นมาแล้วนี้จะมีความเร่าร้อนหรือว่าจะมีความทุกข์มากมายอย่างไร

    แต่ข้อความในสัมโมหวิทโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ได้แสดงเรื่องความทุกข์ของชาติชราและมรณะว่า

    อุปมาเหมือนกับคน ๓ คนซึ่งเป็นข้าศึกคนหนึ่งก็บอกว่าขอให้พาคนนี้เข้าป่าไป เรื่องการพานี้เป็นเรื่องไม่ยากสำหรับเขา อีกคนหนึ่งก็บอกว่า เมื่อพาไปแล้วเขาจะโบยตีให้อ่อนกำลังลง เรื่องของการโบยตีให้อ่อนกำลังลงนั้นเป็นเรื่องไม่ยากสำหรับเขาและคนที่ ๓ก็บอกว่าส่วนเขาเองจะตัดศีรษะเสียซึ่งเรื่องการตัดศีรษะของบุคคลนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยากเลยสำหรับเขา

    เพราะฉะนั้นในขณะที่จุติและปฏิสนธิจะเกิดต่อปฏิสนธิที่เกิดต่อนี้ก็เหมือนกับพาไปสู่ป่า หรือว่าพาไปเที่ยวยังสถานที่หนึ่งสถานที่ใด โดยที่ในอรรถกถาอธิบายพรรณนาว่าเหมือนกับการพรรณนาว่าจะไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด พร้อมที่จะพาบุคคลนั้นไป หลังจากที่จุติจิตดับแล้วปฏิสนธิจิตก็มีกิจทำให้บุคคลนั้นเกิดขึ้นยังภพใหม่ เป็นสถานที่ใหม่เหมือนกับที่ที่ยังไม่เคยไป

    ท่านผู้ฟังที่ชอบไปเที่ยวก็จะมีการเที่ยวหลังจากที่จุติจิตดับแล้วจะไปสู่ภพไหนภูมิไหนไกลมากน้อยเท่าไรไม่สามารถที่จะทราบได้ แต่ว่าปฏิสนธิจิตการเกิดนั้นเองเป็นผู้ที่พาไป

    ส่วนชราคือ ผู้ที่เป็นข้าศึกคนที่ ๒ ซึ่งคอยกระหน่ำโบยตีให้อ่อนล้าหมดแรงลงไปทุกที ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยากเลยสำหรับชรา เพราะว่าเป็นกิจของชราอยู่แล้ว

    และสำหรับผู้ที่เป็นศัตรูหรือข้าศึกคนที่ ๓ ที่จะทำหน้าที่ตัดศีรษะลงนั้นก็คือขณะที่จุติหรือมรณะ คือตาย

    ซึ่งเป็นชีวิตที่เลี่ยงไม่ได้เลยในสังสารวัฏฏ์แต่ถ้าไม่อาศัยการอุปมาก็จะไม่เห็นภัยของมโนสัญเจตนาหารว่า เป็นสภาพที่ขวนขวาย เป็นสภาพที่ประมวลมาซึ่งภพชาติการเกิดเพราะเหตุว่าตราบใดซึ่งยังไม่หมดกรรมกรรมนั่นเองก็ย่อมเป็นผู้ที่พาไปสู่ภพต่าง ๆซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่าเหมือนกับหลุมถ่านเพลิงซึ่งเป็นที่เร่าร้อนใหญ่

    มีข้อสงสัยไหมในเรื่องนี้ เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง กระทำกิจของอาหารปัจจัย แต่ว่าโดยนัยของปฏิจสมุปบาท หมายความถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิต


    หมายเลข 5652
    27 ส.ค. 2558