รอบรู้อาหารปัจจัยเพื่อการละความยินดีในอาหารปัจจัย
ซึ่งข้อความต่อไปมีว่า
ข้อที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลายเมื่อภิกษุรอบรู้อาหารที่เป็นคำ ๆ แล้วก็เป็นอันรอบรู้ราคะ อันประกอบด้วยกามคุณ ๕เมื่อรอบรู้ราคะอันประกอบกับกามคุณ ๕ แล้วสังโยชน์ที่ทำให้เกาะเกี่ยวอยู่นั้นก็ไม่มี เมื่ออริยสาวกรอบรู้อาหารแล้ว ก็เป็นอันรอบรู้เวทนา ๓ เมื่อรอบรู้เวทนา ๓ แล้ว เรากล่าวว่าสิ่งที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมไม่มีแก่อริยสาวก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อรอบรู้อาหารคือ มโนสัญเจตนาหารแล้ว ก็เป็นอันรอบรู้ตัณหา ๓ เมื่อรอบรู้ตัณหา ๓ แล้ว เราก็กล่าวว่า ไม่มีอะไรที่จะทำให้ยิ่งขึ้นไปแก่อริยสาวก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อรอบรู้อาหารคือ วิญญาณแล้ว ก็เป็นอันรอบรู้นามธรรมและรูปธรรม เมื่อรอบรู้นามธรรมและรูปธรรม เราก็กล่าวว่าสิ่งที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปอย่างใดอย่างหนึ่งไม่มีแก่อริยสาวก
เป็นไปได้ไหมคะ ถ้าระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะรอบรู้ราคะหรือตัณหาหรือความยินดีไหม ซึ่งปกติไม่รู้แม้ว่าจะมีอยู่เป็นประจำ
วันหนึ่ง ๆ นี้โลภมูลจิตเกิดมากมายเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นทางตาทางหู ทางจมูกทางลิ้นทางหายทางใจแต่ไม่รู้ ที่จะรู้ก็ต่อเมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม แล้วจึงรู้ว่าขณะใดเป็นสภาพของโลภะความยินดีความต้องการในขณะนั้น
เวลาที่เห็นอาหาร สติระลึกได้ไหมคะ กพฬิงการาหาร ที่จะรอบรู้อาหาร ที่จะรอบรู้โลภะ โลภะมี อย่าลืม เวลาที่เห็นอาหาร โลภะมีแน่ ๆ แต่ที่ไม่รู้ เพราะสติไม่ได้ระลึก แต่เวลาระลึก ลักษณะของสภาพธรรมใดปรากฏในขณะที่เห็นอาหาร ถ้าอาหารกำลังปรากฏ แล้วก็มีโลภะ มีความพอใจในอาหาร แล้วสติไม่ระลึกในขณะนั้น แล้วจะเห็นโลภะที่ไหนล่ะ ก็ไม่เห็น
กำลังจะไปซื้อของ เห็นของที่ถูกใจ อยากจะซื้อ ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของโลภะในขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่น่าพอใจ แล้วจะไปรู้โลภะในขณะไหน เพราะฉะนั้นการที่จะรู้โลภะได้ก็ในขณะเห็นในขณะได้ยิน ในขณะได้กลิ่น ในขณะลิ้มรส ในขณะที่กระทบสัมผัส ในขณะที่คิดนึกด้วยโลภะ เช่นชีวิตประจำวันอย่างที่ว่านี้ ตื่นขึ้นมานี่ คิดถึงอะไร จะรู้ลักษณะของโลภะได้ไหมในขณะนั้นเป็นโลภะหรือเปล่า สิ่งที่คิดว่าตื่นเป็นไหมคะ ส่วนใหญ่ตื่นขึ้นมาแล้ว เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต
ถ้าใครคิดถึงธรรมที่ได้ยินได้ฟังทันทีที่ตื่น แล้วก็ต่อไปอีกระหว่างที่ยังไม่หลับ นั่นก็แสดงว่ามีปัจจัยปรุงแต่งให้กุศลเกิดมาก เพราะฉะนั้นถ้าสติปัฏฐานเกิด จะรู้สภาพของจิตที่ผ่องใส ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะในขณะนั้น เพราะเหตุว่ากำลังพิจารณาลักษณะของสภาพธรรม และแม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล
เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันเป็นเครื่องตรวจสอบผลของธรรม ถ้าเป็นโลภะเกิดขึ้น แล้วสติระลึกรู้ลักษณะของโลภะ นั่นก็เป็นการถูกต้อง เพราะเหตุว่าถ้ามิฉะนั้นแล้วจะรู้ลักษณะของโลภะในขณะไหน ถ้าไม่รู้ในขณะที่โลภะกำลังปรากฏ
อาหารอร่อย สติปัฏฐานเกิดได้ไหมคะ ได้ รู้ลักษณะของโลภะ
เพราะฉะนั้นก็เป็นการรอบรู้โลภะนั่นเองว่า โลภะนี้เกิดขึ้นอาศัยรสทางชิวหาทวาร โลภะนี้อาศัยเกิดขึ้นโดยการเห็นทางจักขุทวาร หรือโลภะนี้เกิดขึ้นโดยอาศัยโสตทวาร ก็เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งต้องรอบรู้ ถ้าไม่รอบรู้สภาพธรรมอย่างนี้ ก็จะไม่เห็นว่า ความยินดีในอาหารปัจจัยยังมีอยู่ตราบใด ก็จะต้องมีอาหารปัจจัยอยู่ตราบนั้น
เพราะฉะนั้นเรื่องของการละ ไม่ใช่เป็นเรื่องการไม่บริโภค หรือไม่รับประทานอาหาร แต่เป็นเรื่องละความยินดีในอาหาร และก็ไม่ใช่เฉพาะแต่เฉพาะกพฬิงการาหารเท่านั้น ต้องในอาหารทั้ง ๔ คือทั้งในผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหารและวิญญาณาหารด้วย