รูป ๘ รูปที่เป็นอินทรีย์


    สภาพธรรมซึ่งเป็นอินทรีย์นี้ ท่านผู้ฟังคงเคยได้ยินว่า มีหมวดธรรมที่แสดงลักษณะของอินทรีย์ ๒๒ แต่ว่าสำหรับอินทรียปัจจัยแล้ว ได้แก่อินทรีย์ ๒๐

    ก่อนอื่นก็ขอกล่าวถึงอินทรียะ ๒๒ เพื่อที่จะให้ทราบว่า ได้แก่สภาพธรรมใด อินทรียะ ๒๒คือ

    ๑. จักขุนทรีย์ได้แก่จักขุปสาทเป็นรูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่โดยเป็นปัจจัยให้เกิดจักขุวิญญาณจิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณจิต

    ในขณะนี้เองหรือเปล่า อินทรีย์ก็ไม่พ้นจากขณะนี้เลย

    จักขุนทรีย์ได้แก่จักขุปสาทซึ่งเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นรูปธรรมที่เป็นใหญ่ โดยเป็นปัจจัยให้เกิดจักขุวิญญาณจิต ซึ่งกำลังเห็น พร้อมกับเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับจักขุวิญญาณจิต

    ถ้าปราศจากจักขุนทรีย์แล้วจะไม่มีการเห็นเกิดขึ้นได้เลย เพียงเท่านี้ก็เห็นความเป็นใหญ่ของจักขุปสาทแล้วใช่ไหมคะ โดยที่อาจจะลืมคิดว่า ทุกวัน ๆ ที่เห็นนี้ ไม่ได้คิดเลยว่า สภาพธรรมใดเป็นปัจจัย โดยเป็นใหญ่ให้เกิดการเห็นขึ้น แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็ทำให้ระลึกได้ว่า การเห็นทุกขณะซึ่งมีอยู่เป็นประจำนั้น ต้องอาศัยจักขุปสาท เป็นรูปธรรม เป็นจักขุนทรีย์ เป็นใหญ่จริง ๆ เพราะเหตุว่าถ้าขาดรูปนี้แล้วจะไม่มีการเห็นใด ๆ ได้เลย

    อินทรียะ ที่ ๒ คือ

    ๒. โสตินทรีย์ได้แก่โสตปสาทรูปซึ่งเป็นใหญ่ โดยเป็นปัจจัยแก่โสตวิญญาณจิต ๒ ดวงพร้อมกับเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยในขณะที่ได้ยินเสียง

    ๓. ฆานินทรีย์ ได้แก่ ฆานปสาทเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่โดยเป็นปัจจัยแก่ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวงและเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย

    ๔. ชิวหินทรีย์ได้แก่ ชิวหาปสาท เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่โดยเป็นปัจจัยแก่ชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวงและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ในขณะที่ลิ้มรส

    ๕. กายินทรีย์ได้แก่กายปสาทซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่โดยเป็นปัจจัยแก่กายวิญญาณจิต ๒ ดวงและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยในขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย

    อินทรีย์ ๕คือตาหู จมูกลิ้น กาย

    ถ้ามีแต่จิตไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้นรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทุกข์ก็เกิดไม่ได้ใช่ไหมคะมีรูปร่างกาย แต่ไม่มีกายปสาทที่จะกระทบกับเย็นหรือร้อนอ่อนหรือแข็งตึงหรือไหว ทุกขเวทนาก็เกิดไม่ได้ ก็จะต้องหมดทุกข์ไปในเรื่องของกายวิญญาณ แต่เพราะเหตุว่ามีรูปซึ่งกรรมเป็นปัจจัยทำให้รูปนั้นเป็นใหญ่ในการที่จะทำให้ทวิปัญจวิญญาณจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    อินทรีย์ที่ ๖เป็นรูปธรรมคือ

    ๖.อิตถินทรีย์ได้แก่ ภาวรูปที่ทำให้ปรากฏสภาพความเป็นหญิง

    อินทรีย์ที่ ๗

    ๗. ปุริสนทรีย์ได้แก่ ภาวรูปที่ทำให้ปรากฏสภาพความเป็นชาย

    ๘ชีวิตินทรีย์ได้แก่สภาพธรรมที่รักษาสหชาตธรรม คือ ธรรมที่เกิดร่วมด้วยให้เป็นไปในขณะนี้ ให้มีอายุให้มีชีวิตให้ดำรงอยู่ให้ตั้งอยู่ในชั่วขณะนั้น

    สำหรับชีวิตินทรีย์นั้นเป็นรูปตินทริยะ๑ และเป็นนามตินทริยะ ๑คือ เป็นชีวิตินทริยเจตสิก๑

    เพราะฉะนั้นในอินทรีย์ ๒๒ นั้นจึงเป็นรูป ๗ เป็นนาม ๑๔และเป็นชีวิตินทริยะ ๑ ซึ่งได้แก่ชีวิตรูป ๑ และชีวิตนาม ๑ นั่นเอง

    แต่เมื่อกล่าวโดยรูป ๒๘ แล้วรูปที่เป็นอินทรีย์มี ๘ รูป

    มีท่านผู้ใดมีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมในเรื่องของรูปที่เป็นอินทรีย์ ๘ รูปคือตา ๑หู ๑จมูก ๑ลิ้น ๑กาย ๑อิตถินทรีย์อิตถีภาวรูป ๑ ปุริสินทรีย์ได้แก่ ปุริสภาวรูป ๑ และชีวิตินทรียะได้แก่รูปซึ่งเกิดเพราะกรรมซึ่งอุปถัมภ์รูปอื่น ๆ ซึ่งเกิดร่วมด้วยในกลุ่มนั้นให้เป็นรูปที่มีชีวิตมีอายุดำรงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง

    มีข้อสงสัยไหมในเรื่องของรูปที่เป็นอินทรีย์


    หมายเลข 5664
    27 ส.ค. 2558