อินทรีย์ ๒๒


    สำหรับอินทรีย์ ๒๒ ที่แสดงไว้ โดยลำดับคือ

    ๑. จักขุนทรีย์ ๒. โสตินทรีย์ ๓. ฆานินทรีย์ ๔. ชิวหินทรีย์

    ๕. กายินทรีย์ ๖. อิตถินทรีย์ ๗. ปุริสินทรีย์ ๘. ชีวิตินทรีย์

    ซึ่งสำหรับชีวิตินทรีย์ รวมทั้งชีวิตรูป และชีวิตนาม

    แต่ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การแสดงเรื่องอินทรีย์ แสดงโดยลำดับจริง คือ ตั้งแต่ทาง ซึ่งปรากฏอยู่เป็นประจำ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ปรากฏอยู่เป็นประจำ

    สำหรับอินทรีย์ต่อไป เป็นนามธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นการรู้ตามลำดับเพิ่มขึ้น คือ

    ๙. มนินทรีย์ ได้แก่ จิตทั้งหมดทุกดวง

    ๑๐. สุขินทรีย์ ความรู้สึกเป็นสุข

    ๑๑. ทุกขินทรีย์ ความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกาย

    ๑๒. โสมนัสสินทรีย์ ความรู้สึกเป็นสุขทางใจ

    ๑๓. โทมนัสสินทรีย์ ความรู้สึกเป็นทุกข์ทางใจ

    ๑๔. อุเบกขินทรีย์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์

    แสดงให้เห็นว่าเป็นลำดับ โดยการที่เมื่อมีชีวิตนามเกิดขึ้น ก็ย่อมมีจิตเกิดขึ้น และเมื่อมีจิตเกิดขึ้นแล้ว ที่จะไม่มีความรู้สึกเกิด ไม่มี เพราะฉะนั้นการที่ทุกท่านมีจิตเกิดขึ้น ท่านปรารถนา แสวงหา และติดอย่างยิ่งในสุขเวทนา ด้วยเหตุนี้สุขเวทนาจึงเป็นอินทรีย์ที่ ๑๐

    ๑๑. ทุกขินทรีย์ ความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกาย

    ๑๒. โสมนัสสินทรีย์ ความรู้สึกเป็นสุขทางใจ

    ๑๓. โทมนัสสินทรีย์ ความรู้สึกเป็นทุกข์ทางใจ

    ๑๔. อุเบกขินทรีย์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์

    ต่อจากชีวิตประจำวันซึ่งมีทั้งรูปธรรม นามธรรม และสภาพของเวทนาทั้ง ๕ ที่เป็นอินทรีย์แล้ว ก็เป็น

    ๑๕. สัทธินทรีย์ สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในการที่จะให้สัมปยุตตธรรมทั้งหลายมีสภาพที่ผ่องใส ปราศจากอกุศล นั่นเป็นลักษณะของศรัทธา ซึ่งเป็นสัทธินทรีย์

    วันหนึ่งๆ นี้ ไม่ค่อยจะรู้สึกว่า จิตนี้เศร้าหมอง ในลักษณะที่ว่าไม่ใช่ความรู้สึกเศร้าเป็นทุกข์ แต่เศร้าหมองในที่นี้ คือ ไม่เป็นกุศล สิ่งที่สกปรก เรียกว่าเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ไม่สะอาด มีใครเคยรู้สึกอย่างนี้บ้างไหมคะ นั่นคือลักษณะของอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้นการแสดงอินทรีย์โดยลำดับ หลังจากที่ได้แสดงเรื่องของรูปธรรมที่เป็นอินทรีย์ และนามธรรมซึ่งเป็นอินทรีย์ในชีวิตประจำวันแล้ว ก็ได้แสดงเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นอินทรีย์ ๕ ได้แก่

    ๑๕. สัทธินทรีย์ ๑๖. วิริยินทรีย์ ๑๗. สตินทรีย์

    ๑๘. สมาธินทรีย์ ๑๙. ปัญญินทรีย์

    ที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงอินทรีย์อีก ๓ อินทรีย์ คือ

    ๒๐. อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่เกิดกับโสตาปัตติมัคคจิต ซึ่งอินทรีย์อันนี้จะไม่เกิดเป็นไปได้ ถ้าไม่มีอบรมอินทรีย์ ๕ เพราะฉะนั้นผลของการอบรมเจริญอินทรีย์ ๕ จะทำให้น้อมไปสู่การละสัญโยชน์ การที่จะให้สัมปยุตตธรรม คือ ธรรมที่เกิดร่วมด้วยบ่ายหน้าต่อการที่จะละสังโยชน์ ๓ บรรลุถึงการดับกิเลสขั้นโสตาปัตติมัคคจิต ซึ่งเมื่อโสตาปัตติมัคคจิตเกิดแล้ว

    ๒๑. อัญญินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิกซึ่งเกิดกับโสตาปัตติผลจิต ตลอดไปจนกระทั่งถึงอรหัตมัคคจิต เป็นการที่รู้สภาพของนิพพาน รู้แจ้งอริยสัจธรรม ตามที่โสตาปัตติมัคคจิตรู้แล้วนั่นเอง แต่ว่าสภาพของมัคคจิตแต่ละมรรคก็ดับกิเลสเพิ่มขึ้น ตามลำดับขั้นของมรรคนั้นๆ จนถึงอินทรีย์สุดท้าย คือ

    อินทรีย์ที่ ๒๒ ได้แก่ อัญญาตาวินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิกซึ่งเกิดกับอรหัตตผลจิต เพราะเมื่อบรรลุอัญญาตาวินทรีย์นี้แล้ว ก็ถึงความเบาใจอย่างยอดเยี่ยม คือ ไม่มีกิจอื่นที่จะต้องกระทำอีกแล้ว


    หมายเลข 5669
    4 ต.ค. 2567