พิจารณาว่าความพอใจในกามคุณ ๕ ยังมีอยู่หรือหนอแล
ข้อความต่อไปก็ยิ่งแสดงให้เห็นชัดว่า ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนั้นจะต้องรู้อะไร อย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ท่านพระอานนท์เรื่องกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่ายินดี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ นี้แลกามคุณ ๕ อย่าง ซึ่งเป็นที่ภิกษุพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า มีอยู่หรือหนอแล ที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เรา เพราะกามคุณ ๕ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง
ดูกรอานนท์ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้ชัดอย่างนี้ว่ามีอยู่แล ( และก็ข้อความต่อไปก็เหมือนกัน คือว่า) มีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ายินดี
ควรรู้ชัดในอะไร กามคุณ ๕ อย่างซึ่งเป็นที่ภิกษุพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่ามีอยู่หรือหนอแล ไม่ใช่ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดได้ยังไง ใครห้ามเหตุปัจจัยที่สะสมมาที่จะให้พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือบรรพชิต ก็มีเหตุปัจจัยที่สะสมมาแล้วที่จะให้ชอบรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพารมณ์บ้าง และก็ขอให้คิดดู ในวันหนึ่งๆ ถ้าไม่ชอบเป็นไป ๕ อารมณ์นี้แล้ว จะชอบอะไร จะเป็นไปในอารมณ์อะไร ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ควรจะรู้ใช่ไหม ควรจะรู้สีไหม ควรจะรู้เสียงไหม ควรจะรู้กลิ่นไหม ควรจะรู้รสไหม ควรจะรู้โผฏฐัพพารมณ์ไหม ใครว่ายังไม่ควรจะรู้อีก แล้วยังต้องพิจารณาจิตเนืองๆ ด้วย ถ้าไม่เป็นการเจริญสติปัฎฐาน จะรู้ได้ยังไงว่าขณะนั้นมีความพอใจในรูป หรือว่าในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพารมณ์ รู้ชัดตามความเป็นจริง เป็นชีวิตจริงของแต่ละคนในขณะนั้นว่า ยังมีความพอใจอยู่ เหตุว่าความพอใจนั้นอาศัยเหตุปัจจัยก็เกิดปรากฏ ที่สติระลึกแล้วก็รู้ชัดว่ายังมีอยู่ การที่รู้ชัดว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ละสักกายทิฏฐิ ทำให้ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ในเบื้องต้นไม่ใช่ละกามราคะ อย่างที่เทวดาท่านนั้นกราบทูลพระผู้มีพระภาค แล้วพระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า พึงมีสติ เพื่อละสักกายทิฏฐิ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะมีอยู่ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สติก็จะต้องเกิดขึ้นพิจารณาจิตเนืองๆ แล้วก็รู้ชัด