รู้สึกตัวในเรื่องอุปาทานขันธ์ ๕
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร อานนท์ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้แล ซึ่งเป็นที่ๆ ภิกษุพึงเป็นผู้พิจารณาเห็น ทั้งความเกิด และความดับอยู่ว่า
อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป
อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา
อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา
อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร
อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ
เธอพิจารณาเห็นทั้งความเกิด และความดับในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้อยู่ ย่อมละอัสสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราละอัสสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ของเราได้แล้ว ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอุปาทานขันธ์ ๕
นี่เป็นการรู้สึกตัว เป็นการเจริญสติทั้งนั้น ไม่ว่าท่านจะนั่ง นอน ยืน เดิน พูด นิ่ง คิดอยู่ที่ใดก็ตาม การเจริญสติปัฏฐานนั้นเพื่อให้ปัญญารู้ชัดในขันธ์ ๕
รูปขันธ์ไม่รู้ ละได้ไหม ความไม่รู้ก็มีอยู่ที่รูปขันธ์ต่อไป
เวทนา ความรู้สึก วันหนึ่งๆ มีทั้งเฉยๆ มีทั้งดีใจ มีทั้งเสียใจ มีทั้งเป็นทุกข์ มีทั้งเป็นสุข ในขณะที่กำลังสุขก็ไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นความรู้สึกเกิดขึ้น อาศัยตาเห็นบ้าง หูได้ยินบ้าง เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่หมดไม่ได้ เพราะว่ามีเห็นรูปอื่นต่อไป มีคิดนึกเรื่องอื่นต่อไป
เพราะฉะนั้น การที่ไม่รู้เวทนาแล้วจะละการยึดถือเวทนาว่าเป็นตัวตนนั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การเจริญสติเพื่อปัญญารู้ยิ่ง ไม่ใช่ไปจำกัดปัญญาไม่ให้รู้ หรือให้รู้นิดเดียว แม้แต่สัญญาก็ต้องรู้ เกิดขึ้นชั่วขณะนิดหนึ่งแล้วก็ดับไป จึงพิจารณาเห็นทั้งความเกิด และความดับอยู่ว่า อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ
ที่จะรู้ทั่วจริงๆ รู้ชัดจริงๆ รู้ยิ่งจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่คิดว่ารู้แล้ว หรือคิดว่าเพียงการศึกษาก็จะทำให้รู้ได้ แต่ถ้าศึกษาโดยตลอดจะเห็นว่า ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน การเป็นผู้รู้สึกตัวในขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน นั้นคืออย่างไร และสิ่งที่จะต้องรู้คือ อุปาทานขันธ์ ๕