รู้ถูก รู้ตรงตามความเป็นจริงทั้งทางกายและทางใจ
ธาตุมนสิการบรรพ สำหรับบางท่านไม่จำเป็นเลย ระลึกถึงลักษณะของธาตุทันที โดยที่ไม่ต้องระลึกถึงผมขนเล็บฟันหนังก่อนโดยความเป็นปฏิกูล เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลแต่ละอัธยาศัย เมื่อทุกสิ่งที่เป็นของจริงมีปรากฏ ก็ขอให้สติระลึก แล้วก็รู้ชัดในลักษณะอาการของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง ลักษณะของสิ่งนั้นต้องปรากฏให้รู้ถูกต้อง จึงจะละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตน ละคลายความไม่รู้ในลักษณะนั้นได้ ถ้าไม่มีลักษณะปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง อาจจะเข้าใจว่ารู้ถูก แต่ความจริงรู้ผิด จะทราบได้ยังไงว่าผิดหรือถูก ก็ต้องโดยการศึกษา และพิสูจน์ทางตารู้อะไร ถ้าว่ารู้รูป ผู้เจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามลักษณะของรูป ทางตารู้รูปอะไร ต้องถูก ถ้าผิดสติปัฏฐานไม่เจริญปัญญาก็ไม่เจริญ ทางตารู้นามอะไร ก็ต้องรู้ถูกตามความเป็นจริงของลักษณะนามทางตา จึงจะชื่อว่า ปัญญาเห็นถูก แล้วก็เจริญปัญญาเจริญสติ ทางหูรู้นามอะไร รู้รูปอะไร ต้องรู้ถูกในลักษณะของรูปที่ปรากฏทางหู ของนามที่รู้ทางหู จึงจะชื่อว่าผู้นั้นมีความเห็นถูก ทางจมูกรู้รูปอะไร ทางกายรู้รูปอะไร จะเปลี่ยนไหมทางกาย เปลี่ยนไม่ได้ ทางจมูกก็รู้กลิ่นที่กำลังปรากฏ ชื่อว่าเห็นถูกตามความเป็นจริง รู้ลักษณะของกลิ่น รู้ลักษณะของสภาพรู้กลิ่นถ้าเป็นนามธรรม ทางลิ้นก็เหมือนกัน รู้ถูกคือรู้ลักษณะของรูปรสที่ปรากฏ และก็รู้ลักษณะของนามที่รู้รสตามความเป็นจริง นั่นชื่อว่ารู้ถูก ทางกาย รู้เย็นร้อนอ่อนแข็งเคร่งตึงไหวที่ปรากฏ จึงจะชื่อว่ารู้ถูก ตามลักษณะของรูปนั้น ส่วนสภาพที่รู้ในขณะนั้นก็เป็นนามธรรม ทางใจรู้รูปอะไร ดิฉันเคยเรียนให้ทราบหลายครั้ง เน้นแล้วเน้นอีกว่า เมื่อรู้สีทางตาแล้ว ก็รู้สีนั้นทางใจต่อ เมื่อรู้เสียงทางหูแล้ว ก็รู้เสียงนั้นทางใจต่อ ท่านที่ศึกษาปรมัตถธรรมย่อมทราบว่าวิถีจิตเกิดขึ้นสืบต่อกันอย่างนี้ จากทางตาก็ไปรู้ทางใจ จากทางหูก็ไปรู้ทางใจ คือรู้รูปนั้นทางใจ ถ้าเป็นการรู้กลิ่นทางจมูกทางฆานทวารดับไปแล้ว ทางมโนทวารรู้กลิ่นนั้นแหละต่อไป เพราะฉะนั้นรูปที่รู้ทางใจก็คือสี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง ไหว ที่รู้ต่อจากตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นเอง วันหนึ่งๆ ก็เป็นอย่างนี้นั่นเอง เพราะฉะนั้นผู้เจริญสติปัฏฐาน
ต้องรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงในลักษณะของรูปนั้นๆ บางท่านอาจจะเข้าใจว่าท่านรู้แล้ว แต่ท่านรู้ผิดได้ ถ้าไม่รู้ตรงตามปกติ ตามความเป็นจริงอย่างนี้