ในพระไตรปิฎกไม่มีรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน


    ผู้ฟัง สรุปได้ว่า อาจารย์ชี้แจงให้ทราบว่า การรู้รูปนามในขณะที่กายนั้นอยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง จะเป็นอิริยาบถยืนก็ตาม นอนก็ตาม นั่งก็ตาม หรือว่าอย่างอื่นก็ตาม ก็รู้รูปนามในขณะที่อยู่ในอิริยาบถนั้นๆ จะเป็นอะไรก็สุดแล้วแต่ แต่ก็ยังไม่เข้าใจอีก เพราะบางท่านบอกว่า ให้รู้รูปทั้งกลุ่ม และอาการของรูปทั้งกลุ่ม เป็นอาการนั่ง นอน ยืน เดิน คือ ให้รู้วิการรูป หรือรู้วิญญัติรูป ทีนี้ทั้ง ๒ ประเภทนี้เท่าที่ศึกษามาก็เป็นสุขุมรูปทั้งนั้น ไม่สามารถที่จะรู้ได้ นี่ก็จุดหนึ่ง

    อีกจุดหนึ่ง คือ ท่านอธิบายว่า รู้เพียงอาการนั่ง หรือว่ายืน หรือว่านอน อย่างใดอย่างหนึ่งก็พอ ก็สามารถจะให้รู้รูปนามตามความเป็นจริงได้แล้ว ผมก็สงสัยว่า รู้เพียงรูปนั่งอย่างนี้แล้วจะรู้อะไร เพราะลักษณะก็ไม่ได้ปรากฏอย่างที่อาจารย์กรุณาชี้ให้เห็นเมื่อสักครู่นี้ ไม่มีลักษณะอะไรที่ปรากฏออกมาเลย นอกจากนั่งแล้วก็โงกหลับไปเท่านั้นเอง ผมพยายามทำความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อจะได้ไม่สับสนในเรื่องของการปฏิบัติ ขอความกรุณาอาจารย์ด้วย

    ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎกไม่มีรูปนั่ง ไม่มีรูปนอน ไม่มีรูปยืน ไม่มีรูปเดินในรูป ๒๘ รูปเลย รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานก็ได้แก่มหาภูตรูป ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีลักษณะปรากฏให้รู้ชัดได้จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะมหาภูตรูป ๔ รูปเท่านั้นที่มีลักษณะปรากฏให้รู้ รูปทุกรูปทรงแสดงลักษณะความต่างกันที่ได้ทรงจำแนกรูปออกเป็น ๒๘ รูป แต่ละรูปมีลักษณะ ที่ท่านกล่าวว่ารูปนั่งเป็นวิการรูป ขอให้สอบทานดูในพระไตรปิฎกว่า วิการรูป

    ว่าวิการรูปมีอะไรบ้าง วิการรูป ได้แก่ รูปที่เบา รูปที่อ่อน รูปที่ควรแก่การงานของมหาภูตรูปทั้ง ๔ ถ้าไม่มีมหาภูตรูป อุปาทายรูปทั้ง ๒๔ รูปจะมีไม่ได้เลย อุปาทายรูปเป็นรูปที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูปบ้าง หรือเป็นอาการอ่อน อาการเบา อาการควรแก่การงานของมหาภูตรูปบ้าง

    อย่างเช่น ทองแข็งๆ พอไปถูกไฟเข้าก็อ่อน แยกความอ่อนออกจากทองได้ไหม ไม่ได้ ฉันใด วิการรูปก็ฉันนั้น เป็นลักษณะอาการของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่บางครั้งเกิดจากจิต บางครั้งเกิดจากอาหาร บางครั้งเกิดจากอุตุ มีความเบา มีความอ่อน มีความควรแก่การงาน แต่ไม่ใช่แยกออกไปจากมหาภูตรูปเลย เป็นอาการของมหาภูตรูป (แม้ทองจะเปลี่ยนสภาพเป็นอ่อน แต่ทองก็ไม่มีวิการรูป เพราะวิการรูป ๓ เป็นรูปที่เกิดภายในสัตว์บุคคลเท่านั้น) แล้วที่กล่าวว่ารูปนั่ง นอน ยืน เดิน เป็นวิการรูปนั้น ลักษณะของวิการรูปบอกแล้วว่า ลักษณะที่อ่อน ลักษณะที่เบา ลักษณะที่ควรของมหาภูตรูปในขณะนั้น เวลานี้ถ้าใครจะแยกกระจายมหาภูตรูปที่อยู่รวมกันติดๆ กันย่อยกระจายออกไปเป็นส่วนเล็กๆ ก็ยังปรากฏลักษณะให้รู้ได้คือ ธาตุดินที่มีลักษณะอ่อนหรือแข็ง ถึงจะแยกออกไป กระจัดกระจายไม่ให้ทรงรวมตั้งอยู่ในลักษณะที่นั่งหรือนอนหรือยืนหรือเดินก็ตาม รูปนั้นยังมีลักษณะอ่อนหรือแข็ง เวลานี้ที่ทุกท่านก็เห็นว่าการที่รูปมาประชุมรวมกันที่จะทรงอยู่ในลักษณะที่นั่ง ไม่ใช่รูปเดียวใช่ไหม ต้องมีรูปมากมายหลายรูป มาประชุมรวมกัน ตั้งอยู่ ทรงอยู่ในลักษณะหนึ่ง ก็สมมติรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นลักษณะที่นั่ง ไม่ว่าจะเป็นคนหรือเป็นโต๊ะเป็นเก้าอี้ก็ได้ จับเก้าอี้นอนลงไป คนนอนลงไป ก็ต้องเป็นสิ่งที่มันประชุมรวมกัน แล้วก็ทรงอยู่ ตั้งอยู่ ในลักษณะที่เข้าใจว่าลักษณะนั้นเป็นการนั่ง ตั้งอยู่ ลักษณะนั้นเป็นการนอน แต่ถ้าย่อยแตกกระจายรูปทุกรูปที่รวมกันอยู่ออกแล้วลักษณะแข็งก็ยังมีที่รูป ลักษณะเย็นก็ยังมีที่รูป คือธาตุดินน้ำไฟลมก็ยังมีลักษณะของตนปรากฏอยู่ สีกลิ่นรสโอชาก็ยังมีรวมอยู่ในรูปนั้นๆ แต่ว่ารูปนั้นจะกล่าวได้ไหมว่านั่งหรือนอนหรือยืนหรือเดิน เมื่อแยกย่อยรูปออกไปให้ละเอียดแล้ว ยังจะกล่าวได้ไหมว่า รูปนั้นนั่ง รูปที่แข็งหรืออ่อน ร้อนหรือเย็นนั่นแหละ แยกกระจายออกไปละเอียดแล้วกล่าวได้ไหมว่านั่งอยู่ ไม่ได้กล่าวได้ไหมว่านอน ไม่ได้ กล่าวได้ไม่ว่ายืน ไม่ได้ กล่าวได้ไหมว่าเดิน ไม่ได้ ก็เป็นรูปที่มองเห็นอยู่ หมายความว่า รูปมีลักษณะของตนปรากฏเป็นของจริง ก็ปรากฏลักษณะนั้น อย่างธาตุดินนน้ำไฟลม ความอ่อนความแข็ง ความเย็นความร้อน เครื่องเคร่งตึงไหวเหล่านี้ มีลักษณะจริงๆ ถึงจะย่อยแตกออกไป ไม่มาเกาะกลุ่มรวมกันอยู่ที่จะทำให้เข้าใจว่าเป็นอิริยาบถหนึ่ง อิริยาบถใด รูปนั้นก็มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ เพราะฉะนั้นความเบา ความอ่อน ความควรของมหาภูตรูปที่กายที่ประชุมรวมกัน ทรงอยู่ ตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถใดก็ตาม ก็เป็นลักษณะของมหาภูตรูปที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงาน


    หมายเลข 5714
    2 ส.ค. 2567