รู้รูปนั่งไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน


    ผู้ฟัง มีที่ท่านบอกว่า ดูเพียงรูปนั่งอย่างเดียวอย่างนี้ตลอดไป ก็ย่อมสามารถจะทำให้มีสติรู้รูปนามได้ชัดเจน แต่ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ เคยถามว่าถ้าดูรูปนั่งอยู่อย่างเดียวอยู่อย่างนี้ จะไม่เป็นสมาธิหรือ ท่านบอกไม่เป็น เพราะเหตุว่าเมื่อดูรูปนั่งอยู่อย่างนี้ มีสภาวะของรูปรับรองอยู่ก็ไม่เป็นสมาธิ ตรงนี้ก็ไม่ค่อยเข้าใจชัดอีกเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ที่เคยมีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า ตามที่ได้ยินมาว่า ถ้ารับประทานเกลือเม็ดเดียวแล้วก็สามารถที่จะรู้ว่าเกลือก้อนอื่นๆ ก็เค็มเหมือนกันหมดไม่จำเป็นที่จะต้องไปชิมหมดทุกเม็ดทุกเม็ดก็คงจะเป็นคำอุปมาที่ว่าถ้าเพียงแต่ระลึกรู้ลักษณะของรูปรูปเดียวก็จะทำให้ปัญญารู้แจ้งรู้ชัดในลักษณะของนาม และรูปทั้งปวงได้ เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นใช่ไหม ทางตาก็มีสีที่ปรากฏเป็นรูป ทางหูที่ได้ยินกันทุกวันก็มีเสียงปรากฏ ทางจมูกก็มีกลิ่น ทางลิ้นมีใครบ้างไม่ได้รับประทานอาหารไม่มีใช่ไหม รสก็ปรากฏ ทางกายเย็นร้อนอ่อนแข็งที่เป็นรูปก็ปรากฏ เป็นของที่มีจริงมีลักษณะปรากฏให้รู้ แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง แล้วไปคิดว่ารู้ในสิ่งที่ไม่มีลักษณะ ในพระไตรปิฎกไม่ได้แสดงเรื่องของรูปนั่งนอนยืนเดินเลย แล้วก็เหตุผลอย่างที่ได้เรียนให้ทราบแล้ว เพราะฉะนั้นไปดูทำไม

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังควรจะคิดเป็นขั้นๆ ว่า ท่านรู้รูปรู้นามถูกต้องตามลักษณะของรูป ถูกต้องตามลักษณะของนามหรือไม่ เพื่อปัญญาของท่านเองที่จะรู้ชัดขึ้น ชินขึ้น ละคลายการไม่รู้ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ทุกอย่าง ว่าสติกระลึกรู้ลักษณะของนามค่อยๆ รู้ขึ้น มากขึ้น เพิ่มขึ้น ชัดขึ้น รู้ลักษณะของรูปทางไหนบ้าง ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะชิน จนกว่าจะชัด จนกว่าจะคลาย เพราะเหตุว่าญาณแต่ละขั้นนั้นขอเรียนให้ทราบว่า ถ้าท่านไม่ได้อบรมการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันแล้วยากเหลือเกินที่จะเกิดขึ้นได้ ถ้าเป็นญาณขั้นต่ำที่เกิดความไม่รู้ หรือว่าความต้องการ หรือการที่เคยจงใจยึดถือในนามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใด จะทำให้ปัญญาของท่านนั้นไม่สามารถที่จะละคลายต่อไปถึงขั้นอื่นๆ ได้ เป็นเรื่องที่ละเอียดมากทีเดียว ที่ปัญญาของผู้นั้นเองจะรู้ว่าในขณะนั้นมีอะไรกั้นปัญญาขั้นต่อไปอีกหรือไม่ การพิจารณายังไม่พอ หรือว่าความรู้สึกความคิดที่ไม่เคยประจักษ์ในลักษณะของนามนั้นรูปนั้น ทำให้เกิดการจดจ้องต้องการรู้ขึ้นมาบัง หรือว่าไม่สามารถที่จะละคลายได้ เพราะว่าไม่เคยเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติจนรู้ทั่ว จนรู้ชัด จนชิน จนเป็นปกติ สามารถที่จะแทงตลอดไม่ว่าญาณใดจะเกิดขึ้นติดต่อกัน การที่ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตนละคลายได้ก็สามารถจะช่วยทำให้ท่านสามารถที่จะรู้แจ้งเป็นญาณขั้นสูงกว่านั้นต่อไปได้ การเจริญสติปัฏฐานรู้สิ่งที่ปรากฏเป็นปกติทุกอย่างตามปกติในชีวิตประจำวันนั้น เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ปัญญาของท่านเพิ่มขึ้น แล้วก็ละคลายการที่เคยพอใจยึดถือที่จะพิจารณาสภาพบางนาม บางรูป หรือว่าบางสถานที่ แต่ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า ต้องมีลักษณะให้ท่านรู้ เพื่อละความไม่รู้ ไม่ใช่ไปจ้อง ไปหวัง เหมือนอย่างไปจ้องไปหวังจะดูรูปนั่ง แล้วก็ยึดถือรูปนั้นรูปเดียว หรือว่านั่งนอนยืนเดินเพียงแค่ ๔ อย่าง แล้วก็พยายามให้เป็นท่าเป็นทางที่นั่งที่เดิน ที่ยืน ที่นอน โดยที่ไม่มีลักษณะของรูปที่จะทำให้ท่านรู้ชัดขึ้นแล้วก็ละคลายตามปกติธรรมดา ไม่ว่าเย็นจะปรากฏ ร้อนจะปรากฏ ปัญญารู้ชัดขึ้น คลายมากขึ้น ที่ท่านกล่าวว่ารู้รูปนั่งรูปเดียวแล้วก็จะทำให้เกิดปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามในลักษณะของรูป ทุกอย่างต้องเป็นเหตุ และผล ผลคือการรู้ชัดในลักษณะของนาม และรูปก็ต้องมาจากเหตุที่ถูกต้อง เวลาที่ท่านพยายามที่จะรู้อยู่ที่รูปนั่งรูปเดียว ท่านบังคับสติหรือว่าท่านเจริญสติ ก็ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน เป็นการบังคับสติ เจริญสติแล้วก็สติก็ย่อมเกิด บ่อยๆ เนืองๆ ตามปกติ วันหนึ่งๆ ตามปกติของทุกชีวิตก็มีเห็น มีได้กลิ่น มีรู้รส มีการรู้สิ่งที่มากระทบสัมผัส มีการคิดนึก เป็นสุขเป็นทุกข์ต่างๆ นี่เป็นชีวิตจริงๆ ถ้าเป็นการเจริญสติก็ย่อมระลึกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่ปรากฏจริงๆ นี่ไม่ใช่การบังคับสติ แต่ถ้าเป็นการที่จะไปเองอยู่ที่รูปนั่งรูปเดียว รูปนั่งก็ไม่มี แล้วก็มีความเห็นผิดต้องการบังคับสติให้อยู่ที่เดียว นั่นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐานเลย เป็นอัตตาที่บังคับสติ แล้วก็จะทำให้สติเจริญขึ้นปัญญาเจริญขึ้นได้อย่างไร ไม่ใช่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นการเจริญปัญญาให้รู้ยิ่ง ให้รู้ชัด ให้รู้ทั่ว ให้รู้จริงคือรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติธรรมดา จึงจะชื่อว่ารู้จริง เพราะว่ามีแล้วปรากฏแล้ว ถ้ารู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็เป็นการรู้จริงๆ


    หมายเลข 5716
    2 ส.ค. 2567