สติปัฏฐานภาวนา คือการพิจารณาธรรมในธรรม


    ข้อความต่อไปในหมวดของธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็โดยนัยเดียวกันมีข้อความว่า

    สติเป็นอนุปัสสนาญาณ ธรรมปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย บุคคลพิจารณาธรรมเหล่านั้น ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงกล่าวว่า สติปัฏฐานภาวนา คือ การพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย

    ไม่มีเรื่องที่จะให้เป็นสมาธิเลย มีแต่สติทั้งนั้น สติเป็นอนุปัสสนาญาณ ไม่ได้กล่าวถึงสมาธิ ไม่ใช่ว่าในขณะนั้นไม่มีสมาธิ ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูป เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตดวงนั้นกับสตินั้นก็เป็นสัมมาสมาธิ แต่ว่า เป็นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานภาวนา เป็นเรื่องของการที่จะระลึกรู้ลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรมที่ปรากฏเพื่อการรู้ชัด เรื่องของสติทั้งนั้น แต่ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะไปทำให้จิตสงบเป็นสมาธิแล้วก็จะเกิดการรู้ชัดเพราะความสงบ ไม่ใช่ที่จะรู้ชัด ไม่ใช่เพราะความสงบ แต่รู้เพราะสติระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏกายบ้าง เวทนาบ้าง จิตบ้าง ธรรมบ้างตามปกติธรรมดา จนกว่าจะรู้ชัดแล้วก็ละคลายความไม่รู้


    หมายเลข 5724
    2 ส.ค. 2567