ทรงสรรเสริญคุณธรรมในการเจริญกายคตาสติไว้มาก
อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ปสาทกรธัมมาทิบาลี ข้อ ๒๓๐ เป็นข้อความที่สรรเสริญกายคตาสติ ซึ่งหมายความถึงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ข้อความบางประการที่จะขอกล่าวถึง คือ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมละอวิชชาเสียได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น ย่อมละอัสมิมานะเสียได้ อนุสัยย่อมถึงความเพิกถอน ย่อมละสังโยชน์เสียได้ ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือ กายคตาสติ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกฉานแห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน ย่อมมีการแทงตลอดธาตุมากมาย ย่อมมีการแทงตลอดธาตุต่างๆ ย่อมมีความแตกฉานในธาตุมากมาย ย่อมเป็นไปเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง
มีข้อความที่สรรเสริญกายคตาสติอีกมาก ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังไม่ได้ศึกษาเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานให้ถูกต้อง ท่านอาจจะคิดว่าบรรพเดียวก็พอ เป็นกายคตาสติแล้ว แต่ขอให้คิด ผู้เจริญสติปัฏฐาน กาย คือ นามกาย และรูปกาย ขณะที่มีสติเกิดขึ้นกับขณะที่หลงลืมสติก็ต้องรู้แล้ว กายปรากฏ สติระลึกที่กายนั้น เพราะฉะนั้นผู้นั้นจะระลึกรู้ลักษณะของกายที่เป็นรูปกาย และรู้นามกายด้วย และเวลาระลึกลักษณะของรูปก็ไม่ใช่เป็นการบังคับสติ ให้ไปจดจ้องอยู่ที่รูปเดียว ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้วล่ะก็จะไม่เป็นไปเพื่อความแตกฉานแห่งปัญญา จะไม่เป็นไปเพื่อการแทงตลอดธาตุมากหลาย แต่ตามปกติธรรมดาของการเจริญสตินั้น แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูป เป็นการเจริญสติ ไม่ใช่บังคับสติ แม้แต่ในบรรพแรกของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ อานาปานบรรพ ระลึกรู้ลักษณะของลม แม้ปีติเกิดก็รู้ เวทนาที่เกิด เพราะระลึกรู้ลมมีปรากฏ สติต้องระลึกรู้ทั้งนามทั้งรูป แล้วแต่จะเป็นนามอะไร เป็นรูปอะไร เพื่อการรู้ชัดแล้วละคลาย แต่เพราะอาศัยพิจารณากาย จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวลาที่เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ก็มีข้อความว่า “ละอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย” ซึ่งอภิชฌา และโทมนัสในโลกก็มีข้อความอธิบายว่า “โลกได้แก่ขันธ์ ๕” เพราะฉะนั้นต้องรู้ ไม่ใช่รู้แต่เฉพาะกาย ไปจ้องเลือกเฉพาะรูปหนึ่ง รูปใด นั่นไม่ใช่เป็นการเจริญปัญญา แต่ว่าไปเป็นการบังคับแล้วก็จำกัดด้วยไม่ให้ปัญญาเจริญ