การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องของชีวิตปกติธรรมดาทุกอย่าง


    ข้อความต่อไปก็ยังกล่าวว่า

    ขันธ์ ๕ นั่นเองเป็นตัวทุกข์ เพราะมีพระบาลีว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ อาการบีบคั้นเนืองๆ นั่นเองเป็นทุกขลักษณะ คือ การเกิดดับ

    ขันธ์ ๕ นั่นเองเป็นอนัตตา เพราะพระบาลีว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา เพราะเหตุไร เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ อาการที่ไม่เป็นไปในอำนาจนั่นเอง เป็นอนัตตลักษณะ

    ดิฉันก็ได้เรียนให้ทราบแล้วว่า เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องปกติธรรมดาทุกประการทุกบรรพ ตั้งแต่อานาปานบรรพ ลมหายใจก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ใช่ว่าต้องไปทำอะไรพิเศษผิดจากปกติ ต้องระลึกที่ลมหายใจเข้าก่อนระลึกที่ลมหายใจออกก่อนก็ไม่ได้ นั่นไม่ใช่เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเลย ขณะใดก็ตามที่เกิดความคิดว่าจะทำ นั่นไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามปกติธรรมดา ซึ่งเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ก็ขอเรียนให้ทราบอีกนะคะ ว่าการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องของชีวิตปกติธรรมดาทุกอย่าง ตั้งแต่อานาปานบรรพ อิริยาปถบรรพ ทุกคนมี จะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอน อย่างไรก็ตามระลึกรู้ส่วนของกายที่ปรากฏในอาการของรูปที่ประชุมรวมกัน ทรงอยู่ ตั้งอยู่ แล้วก็รู้ชัดในลักษณะที่เป็นรูปตามความเป็นจริง คือการเห็นกายในกายส่วนที่ปรากฏ สัมปชัญญบรรพก็เช่นเดียวกัน ส่วนใดปรากฏก็ระลึก เห็นกายในกายที่ส่วนนั้น เหมือนกับปฏิกูลมนสิการ เห็นผมส่วนหนึ่งก็ระลึกรู้ชัด ขนเล็บฟันหนังแต่ละส่วนก็ระลึกแล้วก็รู้ชัด ในส่วนของกายที่ปรากฏ

    ผมเห็นกันทุกวัน แต่ว่าไม่ได้ระลึกด้วยสติว่าเป็นปฏิกูล เพราะฉะนั้นก็ขอให้เมื่อมีผมแล้ว ก็เห็นบ่อยๆ ก็ให้เป็นสติปัฏฐาน ระลึกถึงความเป็นปฏิกูลก็ได้ หรือระลึกส่วนที่เป็นธาตุมนสิการก็ได้ ไม่ใช่จำกัดว่า ทุกคนจะต้องตั้งต้นเหมือนกัน เวลาที่เห็นผมกระทบสัมผัสก็ให้ระลึกเป็นปฏิกูลมนสิการ ตั้งเป็นกฎเกณฑ์อย่างนั้นไม่ใช่ แล้วแต่ว่าสติจะระลึกเป็นไปในลักษณะใด ตามอัธยาศัยของผู้นั้น ไม่มีการบังคับไม่มีการกฎเกณฑ์ แต่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นสติปัฏฐาน เป็นเครื่องระลึกของสติได้ ให้สติระลึกแล้วรู้ชัด เห็นกายในกายที่ส่วนที่สติระลึกในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เป็นลมหายใจ ส่วนที่ปรากฏที่อิริยาบถที่เป็นอิริยาปถบรรพ ส่วนที่ปรากฏสัมปชัญญบรรพ ส่วนที่ปรากฏเป็นส่วนต่างๆ เป็นปฏิกูลมนสิการบรรพ ก็ให้รู้ลักษณะจริงๆ โดยความเป็นรูปแต่ละรูปตามความเป็นจริงที่กาย


    หมายเลข 5744
    1 ส.ค. 2567