ไม่ได้ให้ระลึกรู้แต่เฉพาะรูปอย่างเดียว และรูปเดียว


    อรรถกถาของทีฆนิกาย มหาสติปัฏฐานสูตร ข้อความว่า

    ชาวเมืองกุรุเจริญสติปัฏฐานกัน เวลาพบปะกันก็ถามกันว่า เจริญสติปัฏฐานหมวดใด

    ก็อาจจะเป็นข้อสงสัยว่า คนนั้นคงจะเจริญแต่สติปัฏฐานหมดนั้นเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะเหตุว่า ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานไม่เหมือนกัน คนระลึกรู้ทางตาก่อนอย่างอื่น ถามเขาก็บอกว่า ไม่ได้ระลึกรู้นามอื่นรูปอื่นเลย ระลึกรู้ทางตาบ่อยมากกว่าอย่างอื่น ทำไมเรายังคุยกันได้อย่างในสมัยนี้ ในสมัยโน้นก็เหมือนกัน ผู้นั้นก็บอกว่าในวันนั้น จิตโน้มไปหรือว่าสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งใดวันนั้น แต่ไม่ใช่ว่าหมายความว่า ผู้นั้นจะเจริญอย่างนั้นไปเรื่อยๆ จนตลอดชีวิต เพราะว่าปัญญาจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูปจนละคลายความสงสัยความไม่รู้ เมื่อผู้นั้นระลึกรู้ลักษณะของนามเห็นบ่อยๆ เนืองๆ กว่าทางอื่น แล้วก็ระลึกรู้ลักษณะของสีบ่อยๆ เนืองๆ กว่าทางอื่น ผู้นั้นก็ทราบว่าคนทางนี้เป็นหนทางที่ให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามทางตาที่เห็นกับสีที่กำลังปรากฏทางตา แต่ว่ายังไม่ได้มนสิการระลึกรู้ลักษณะของนามทางหู นามทางจมูก หรือทางอื่นๆ เลย เมื่อสติระลึกรู้ความจริงข้อนี้เป็นปัจจัย ก็ทำให้ในภายหลังสติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามทางอื่น รูปทางอื่นต่อไปในวันหนึ่งๆ เรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้นชินขึ้น แต่ไม่ใช่ไประลึกรู้รูปเดียวตลอดเวลา สำหรับท่านที่เคยได้ยินได้ฟังว่า ให้ระลึกรู้แต่เฉพาะรูปอย่างเดียว และก็รูปเดียวด้วย ขอให้คิดว่าเจริญสติอย่างไรถึงได้ไปรู้รูปเดียวได้ น่าอัศจรรย์ไหม คนนั้นก็มีเห็นตลอดทั้งวัน มีได้ยินตลอดทั้งวัน มีคิดนึก มีสุข มีทุกข์ และก็เจริญสติปัฏฐานอย่างไรจึงได้สามารถที่จะไปรู้รูปอยู่ได้รูปเดียว นั่นไม่ใช่การเจริญสติ แต่ว่าเป็นการบังคับสติ โดยที่ผู้นั้นไม่ทราบเลยว่า เป็นไปด้วยความต้องการหรือไม่ ขณะที่สิ่งอื่นก็มีปรากฏทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ว่าผู้นั้นไม่รู้แล้วก็ไปรู้อยู่ได้เพียงอย่างเดียว เป็นการบังคับสติหรือไม่ใช่ เป็นไปด้วยอำนาจของความต้องการหรือไม่ใช่


    หมายเลข 5748
    1 ส.ค. 2567