นันทโกวาทสูตร
ไม่ใช่เพียงแต่ข้อความในวิสุทธิมรรคเท่านั้นที่กล่าวถึงการเพิกอิริยาบถ ใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ นันทโกวาทสูตร มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นพระมหาปาชาบดีโคตมีพร้อมด้วยภิกษุณีประมาณ ๕๐๐ รูป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงโอวาทสั่งสอนพวกภิกษุณี จงรับสั่งแสดงธรรมแก่พวกภิกษุณีเถิด
ซึ่งในที่สุดพระผู้มีพระภาคก็ได้มีพระดำรัสให้ท่านพระนันทกะแสดงธรรมกับภิกษุณี ข้อความที่ท่านพระนันทกะแสดงกับภิกษุณีทั้งหลายนั้น เป็นเรื่องของจักษุไม่เที่ยง โสตไม่เที่ยง ฆานไม่เที่ยง ชิวหาไม่เที่ยง กายไม่เที่ยง มโนไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง เสียงไม่เที่ยง เป็นต้น คือ ทั้งอายตนะภายใน และอายตนะภายนอก
ข้อความที่พระท่านนันทกะแสดงธรรมซึ่งเป็นคำอุปมา มีว่า
ดูกร น้องหญิงทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ฉลาด ฆ่าโคแล้วใช้มีดแล่โคอันคมชำแหละโค แยกส่วนเนื้อข้างใน แยกส่วนหนังข้างนอกไว้ ในส่วนเนื้อนั้น ส่วนใดเป็นเนื้อล่ำในระหว่าง เอ็นในระหว่าง เครื่องผูกในระหว่าง ก็ใช้มีดแล่โคอันคมเถือแล่คว้านส่วนนั้นๆ ครั้นแล้วคลี่ส่วนหนังข้างนอกออก เอาปิดโคนั้นไว้ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า โคตัวนี้ประกอบด้วยหนังผืนนี้ เหมือนอย่างเดิมนั่นเอง
ดูกร น้องหญิงทั้งหลาย คนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคที่กล่าวนั้น ชื่อว่ากล่าวชอบหรือหนอแล
ภิกษุณีกล่าวตอบว่า
หามิได้ เจ้าข้า
ท่านพระนันทกะถามว่า
นั่นเพราะเหตุไร
ภิกษุณีตอบว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ฉลาดโน้น ฆ่าโคแล้ว ใช้มีดแล่โคอันคมชำแหละโค แยกส่วนเนื้อข้างใน แยกส่วนหนังข้างนอกไว้ ในส่วนเนื้อนั้น ส่วนใดเป็นเนื้อล่ำในระหว่าง เอ็นในระหว่าง เครื่องผูกในระหว่าง ก็ใช้มีดแล่โคอันคมเถือ แล่คว้านส่วนนั้นๆ ครั้นแล้วคลี่ส่วนหนังข้างนอกออก เอาปิดโคนั้นไว้ แม้เขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า โคตัวนี้ประกอบด้วยหนังผืนนี้เหมือนอย่างเดิมนั่นเอง ก็จริง ถึงกระนั้น โคนั้นก็แยกกันแล้วจากหนังผืนนั้น
ท่านพระนันทกะกล่าวต่อไปว่า
ดูกร น้องหญิงทั้งหลาย เราเปรียบอุปมานี้ เพื่อให้เข้าใจเนื้อความชัด เนื้อความในอุปมานั้น มีดังต่อไปนี้
ดูกร น้องหญิงทั้งหลาย ข้อว่าส่วนเนื้อข้างในนั้น เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖ ส่วนหนังข้างนอกนั้น เป็นชื่อของอายตนะภายนอก ๖ เนื้อล่ำในระหว่าง เอ็นในระหว่าง เครื่องผูกในระหว่างนั้น เป็นชื่อของนันทิราคะ มีดแล่โคอันคมนั้น เป็นชื่อของปัญญาอันประเสริฐ ซึ่งใช้เถือ แล่ คว้านกิเลสในระหว่าง สังโยชน์ในระหว่าง เครื่องผูกในระหว่างได้
อันนี้เหมือนกับการเพิกอิริยาบถไหม มีโค ๑ ตัว แต่ยังไม่ได้กระจัดกระจายส่วนต่างๆ ของโคนั้นออกเลย เพราะยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปที่ประชุมรวมกัน แต่เมื่อใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป ปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามของรูป แล้วก็แยกส่วนต่างๆ ที่เป็นภายใน ได้แก่ อายตนะภายใน ส่วนหนังโคที่หุ้มไว้ภายนอก ก็ได้แก่อายตนะภายนอก สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์
ทุกท่านที่ยังไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเลย ติดกันหมดทั้งอายตนะภายในอายตนะภายนอก แยกได้ไหม ขณะที่กำลังเห็นมีอายตนะภายใน มีอายตนะภายนอก ขณะที่กำลังได้ยิน ได้ยินเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นจิตที่รู้ทางหู เป็นโสตายตนะ ส่วนเสียงก็เป็นสัททายตนะ เป็นอารมณ์ภายนอก ไม่ใช่อย่างเดียวกันเลย ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของเห็นกับสีทางตา ก็ไม่สามารถแยกอายตนะภายในกับภายนอกได้ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของได้ยินว่า ต่างกับเสียงที่ปรากฏทางหู ก็ไม่สามารถแยกอายตนะภายในกับภายนอกได้
เพราะฉะนั้น ก็ติดกันแน่นหมด ตลอดทุกขณะเรื่อยมา ไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ขณะนั้นเป็นโคตัวหนึ่ง ซึ่งความจริงแล้วก็มีส่วนต่างๆ ซึ่งปัญญาต้องแยกส่วนต่างๆ นั้น รู้ชัดตั้งแต่ส่วนที่เป็นหนังที่ปกคลุมไว้ภายนอก กับส่วนเนื้อต่างๆ ที่เป็นภายใน ถ้าปัญญาไม่รู้ชัดอย่างนี้ ก็ปรากฏเป็นโค ๑ ตัว
นี่พูดถึงโค แต่ตัวของท่านเองเหมือนกันไหม ไม่ได้ต่างกันเลย มีข้อความอุปมาว่า เวลาที่เห็นโคเดินหรือว่าเกวียนเดินไป มีโคเทียม และก็มีคนขับ ก็ปรากฏเหมือนกับโคที่ลากเกวียนเดินไป แต่ถ้าปัญญารู้ชัดจริงๆ โคก็ไม่มี มีแต่ส่วนต่างๆ ที่ประชุมรวมกันเนื้อเอ็นเนื้อล่ำต่างๆ แล้วก็มีหนังปกคลุมหุ้มไว้ เมื่อโคก็ไม่มีแล้ว เดินจะมีได้ไหม ไม่มี แต่ที่ปรากฏเห็นว่าโคกำลังเดิน เกวียนกำลังเดินไป ก็เพราะเหตุว่าส่วนต่างๆ นี้ประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เมื่อปัญญายังไม่รู้ชัด ยังไม่รู้ว่าแท้จริง โคก็ไม่มี เกวียนก็ไม่มี เป็นแต่เพียงที่ประชุมกันเป็นกลุ่มก้อน ทรงอยู่ ตั้งอยู่ ในลักษณะอย่างใดก็เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น ตราบใดที่ปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามของรูปที่ประชุมรวมกัน นั่นเป็นเรื่องโคเรื่องเกวียนฉันใด เรื่องของแต่ละบุคคลก็เหมือนกัน ปรากฏ ทรงอยู่ ตั้งอยู่ มีทั้งอายตนะภายในมีทั้งอายตนะภายนอก และก็มีความรู้สึกว่านั่งอยู่ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่รู้ชัดเลยในลักษณะของรูปแต่ละรูป นามแต่ละนาม ตามความเป็นจริง จึงคิดว่ากำลังนั่งอยู่ ยังไม่ได้เพิกอิริยาบถ เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของรูปที่ประชุมรวมกันในลักษณะของนาม ต่อเมื่อใดที่ปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแต่ละลักษณะ รู้ชัดในลักษณะของรูปแต่ละรูปที่ปรากฏแล้วก็ดับไป ไม่ปรากฏสภาพความเป็นสัตว์เป็นบุคคลเลย ในขณะนั้นเมื่อบุคคลก็ไม่มี แล้วนั่งจะมีได้อย่างไร แล้วนอนจะมีได้อย่างไร แล้วยืนแล้วเดินจะมีได้อย่างไร
บางท่านยังยึดมั่นในความเห็นเรื่องรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน ก็ไม่ทราบว่าพระธรรมส่วนนี้จะทำให้ท่านละทิ้งความเห็นที่คิดว่ามีรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดินได้ไหม ในเมื่อได้ทรงแสดงไว้แล้วว่า ไม่มีแม้แต่สัตว์ แม้แต่บุคคล เป็นแต่เพียงลักษณะของนามของรูปที่เกิดขึ้นแล้วดับไปแต่ละลักษณะเท่านั้นเอง กระจัดกระจายออกแล้วก็เป็นรูปแต่ละรูป นามแต่ละนาม เมื่อเป็นรูปแต่ละรูป เมื่อเป็นนามแต่ละนาม คนก็ไม่มี