กุศลวิบาก - อกุศลวิบาก
ถ้าไม่มีกิเลสก็ไม่ต้องเกิดใช่ หรือไม่ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดก็แสดงว่ายังมีกิเลสอยู่ กิเลสวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิปากวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น เวลาที่กรรมหนึ่งกรรมใดทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด กรรมก็ไม่ได้ทำให้สิ้นสุดไปเพียงปฏิสนธิจิตเกิดขณะเดียว กรรมนั้น กรรมเดียวกันนั้นก็ยังทำให้จิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติทำภวังคกิจ เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต ภวังคจิตก็เป็นวิบากจิต แต่พอถึงเวลาที่จะรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใด วิถีจิตแรกไม่ใช่วิบาก แต่เป็นกิริยาจิต เพราะฉะนั้นมโนทวาราวัชชนจิต และปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นกิริยาจิต เพราะเหตุว่าเพียงรำพึงถึง หรือนึกถึงอารมณ์ที่ปรากฏ เมื่อดับไปแล้วสำหรับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะเห็นได้ว่ากรรมเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิดเพื่อเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นรับผลของกรรม เพราะฉะนั้นเห็นก็ต้องมี ๒ ขณะที่ต่างกัน เห็นสิ่งที่น่าพอใจ สีสันวัณณะที่น่าพอใจเป็นผลของกุศลกรรม เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจเป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นจิตเห็นเป็นวิบากจิต เป็นผล ยับยั้งไม่ได้ แล้วแต่ว่าวาระไหนกรรมใดจะให้ผล ถ้าเป็นทางหู เสียงก็มีทั้งเสียงที่น่าพอใจ และเสียงที่ไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น เวลากรรมจะให้ผลให้ได้ยิน ขณะใดที่ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ จิตที่ได้ยินเป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ จิตที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจเป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทางจมูกกลิ่นก็มีหลายกลิ่น บางกลิ่นก็ต้องรีบผ่านๆ ไปใช้อะไรอุดจมูก หรืออะไรก็แล้วแต่ ขณะที่ได้กลิ่นที่ไม่ดีขณะนั้นก็เป็นอกุศลวิบากเป็นผลของอกุศลกรรมที่จะทำให้ได้กลิ่นอย่างนั้น ทางลิ้นก็เช่นเดียวกัน ทางกายก็เช่นเดียวกันคือขณะใดที่ทางกายรู้สึกเป็นทุกข์ เจ็บปวด คัน เมื่อย หรืออะไรก็แล้วแต่ซึ่งต้องอาศัยกายปสาท ขณะนั้นก็เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำให้กายวิญญาณ คือจิตที่รู้สิ่งที่กระทบกายเป็นอกุศลวิบากเกิดขึ้น ไม่มีใครต้องการแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ วันไหนก็ไม่รู้ จะมาก หรือจะน้อยแค่ไหนก็ไม่รู้ เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว
เพราะฉะนั้น วิบากทั้งหมดเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว หลังจากปัญจทวาราวัชชนแล้ว จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นวิบากทั้งหมดทั้ง ๕ ทวาร และเมื่อจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะก็เกิดต่อ เป็นผลของกรรมที่ทำให้ไม่ใช่เพียงแค่เห็น ยังต้องรับอารมณ์นั้นต่อไปในเมื่ออารมณ์นั้นยังไม่ดับ แค่เห็นเป็นอะไร หรือไม่ ไม่ได้เกิดทุกข์อะไรเพียงแค่เห็น ถ้าจะทราบต่อไปว่าเวทนาความรู้สึกที่เกิดพร้อมจิตเห็นคืออุเบกขา จะเห็นอะไรก็ตามแต่เป็นอุเบกขา ได้กลิ่นอะไรก็เป็นอทุกขมสุข ได้กลิ่นอะไร ลิ้มรสอะไรก็เป็นอทุกขมสุข ทั้ง ๔ ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น ทั้งหมด จิตที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรมเป็นวิบาก และเกิดร่วมกับความรู้สึกที่เป็นอทุกขมสุข แต่สำหรับทางกายต้องเป็นหนึ่งใน ๒ คือเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ซึ่งเป็นผลของกรรม และเมื่อสัมปฏิจฉันนะเกิดต่อ เพราะเหตุว่ากรรมไม่ได้ทำให้ได้แค่เห็นแค่ได้ยิน ต้องให้มีจิตที่เป็นวิบากเกิดรับอารมณ์นั้นด้วย และทำให้เมื่อสัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว ทำให้สันตีรณะเกิดขึ้นมีอารมณ์เดียวกันเป็นวิบากที่ต้องพิจารณา หรือรู้อารมณ์ขณะนั้นต่อจาก สัมปฏิจฉันนะ นี้คือหมดเรื่องของวิบากทางตา หู จมูก ลิ้น กายก่อน แต่อาจจะมีวิบากเล็กๆ ตามมาทีหลังก็ได้ แต่ว่าตอนนี้เพียงให้ทราบว่า จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะเป็นวิบากทั้งหมดที่กรรมทำให้เกิดขึ้น
ที่มา ...