ตราบใดที่ยังมีนามชีวิตินทริย ตราบนั้นก็ยังมีมนินทรีย์


    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าตราบใดที่ยังมีนามชีวิตินทรียะคือเจตสิกก็มีนามธรรมอื่น เช่น อินทรีย์ที่ ๙มนินทรีย์ ที่ใจหรือจิตเป็นใหญ่เป็นมนินทรีย์ก็เพราะเหตุว่าเป็นที่ตั้งที่เกิดของนามธรรมอื่น ๆ ที่เกิดร่วมด้วยถ้าไม่มีจิตเจตสิกอื่น ๆ ก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นสภาพของจิตจึงเป็นใหญ่เป็นอินทรีย์เป็นมนินทรีย์

    และถ้าท่านผู้ฟังจะสังเกตต่อ ๆ ไป จะเห็นได้ว่าเมื่อกล่าวโดยปรมัตถธรรมทรงใช้พยัญชนะว่าจิตปรมัตถ์ แต่ในบางครั้งจะใช้คำว่ามโนหรือถ้าเป็นอินทรีย์ ก็จะใช้คำว่ามนินทรีย์เพื่อที่จะให้สอดคล้องกับทวารอื่นเช่นจักขุนทรีย์เป็นจักขุทวารโสตินทรีย์เป็นโสตทวาร

    แต่นอกจากนั้นจิตนั้นเองแต่ว่าเมื่อรู้แจ้งอารมณ์ซึ่งเป็นธาตุที่รู้แจ้งอารมณ์ทางหนึ่งทางใด ในทวารหนึ่งทวารใด ก็ใช้คำว่าวิญญาณเช่นจักขุวิญญาณโลภมูลจิตไม่ใช่จิตเห็นเพราะฉะนั้นไม่ใช่สภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ซึ่งกำลังปรากฏให้เห็นทางตาในขณะนี้ ในขณะที่รูปารมณ์กำลังปรากฏทางตา จิตซึ่งรู้แจ้งคือเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาทรงใช้พยัญชนะว่าจักขุวิญญาณเพื่อให้รู้ว่าเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ทางทวารไหนถ้าเสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ปรากฏเพราะจิตประเภทหนึ่งกำลังได้ยินคือรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นจึงใช้คำว่าโสตวิญญาณ

    นี่ก็เป็นสิ่งเล็ก ๆน้อย ๆ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังสังเกต ก็จะได้เหตุผลว่า เพราะเหตุใดจึงใช้จิตปรมัตถ์ เพราะเหตุว่าหมายความถึงจิตทุกชนิดทุกประเภท เป็นสภาพรู้แต่ที่ใช้คำว่าวิญญาณ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่รู้แจ้งทางทวาร เช่นทางตาจิตที่เห็นเป็นจักขุวิญญาณ เมื่อมี ๖ ทวารเพราะฉะนั้นเวลาที่จะใช้คำที่มีความหมายของจิตที่เนื่องกับทวาร ก็ใช้คำว่ามโนทวาร หรือว่ามโนวิญญาณธาตุ เป็นต้น


    หมายเลข 5921
    27 ส.ค. 2558