สติระลึกที่กายภายใน - กายภายนอก เป็นอย่างไร


    ผู้ฟัง ยังสงสัยเรื่องภายใน ภายนอก

    ท่านอาจารย์ ภายใน ภายนอก ก็ต้องแยกเป็นแต่ละหมวด หรือแต่ละบรรพด้วย ไม่ใช่ปนกันหรือว่ารวมกัน กายานุปัสสนาสติปัฏฐานแต่ละบรรพ ก็มีข้อความว่า พิจารณาเห็นกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นทั้งกายภายใน และภายนอกบ้าง นี่แสดงให้เห็นว่าไม่ควรหลงลืมสติเลย เพราะว่าบางครั้งระลึกที่กายภายในที่ตนเอง แต่บางครั้งระลึกที่ตายภายนอก ที่มีลักษณะปรากฏให้รู้ ถ้าคิดถึงความเป็นปกติธรรมดาแล้วไม่มีข้อสงสัย แต่ถ้าคิดว่าจะต้องไปสร้างจะต้องไปทำผิดปกติก็เกิดความสงสัยขึ้นอย่างลมหายใจ พิจารณาลมหายใจภายใน พิจารณาที่ไหน ที่ตนเองใช่ไหม ที่กาย พิจารณาลมหายใจภายนอกที่ไหน ของคนอื่น คนอื่นมีลมหายใจไหม เคยมากระทบบ้างไหม ลมหายใจคนอื่น ปกติธรรมดาที่สุด ที่สติระลึกรู้ทุกสิ่งที่เกิดปรากฏตามความเป็นจริง อย่าให้มีอะไรมาขัดขวาง มาปิด มาติดมาข้องว่า ระลึกไม่ได้ รู้ไม่ได้ ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ นั่นไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงเลย แต่ถ้าทราบว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่มีสักขณะเดียวที่สติจะระลึกรู้ไม่ได้ถ้าสิ่งนั้นเป็นของจริงที่ปรากฏ และที่ทรงโอวาทให้ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปบ่อยๆ เนืองๆ ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ก็เพราะเหตุว่ามีสิ่งที่เป็นของจริงที่ปรากฏให้สติระลึกรู้ได้ ไม่ใช่จะระลึกเฉพาะที่กายตนเอง บางครั้งสติไม่ได้ระลึกที่กายตนเอง แต่ระลึกที่กายคนอื่น ในรถประจำทาง ถ้านั่งติดๆ ชิดๆ กัน มีลมหายใจของคนอื่นมากระทบบ้างไหม ควรระลึกรู้ไหม ในขณะนั้นสติระลึกรู้ได้ไหม ไม่ควรหลงลืมสติปกติธรรมดาที่สุดไม่มีอะไรน่าสงสัยเลย ถ้าลมหายใจของตนเองมีของผู้อื่นก็มี ของตนเองปรากฏก็ระลึกรู้ลมหายใจที่ปรากฏกับตนที่เป็นลมหายใจภายใน ถ้าลมหายใจของคนอื่นปรากฏกระทบ ก็อย่าหลงลืมสติ ระลึกได้รู้ได้ในขณะนั้น แม้ส่วนที่เป็นลมหายใจของคนอื่น ข้อสำคัญที่สุดคือไม่ให้เป็นผู้หลงลืมสติ อย่าคิดว่าเจริญสติไม่ได้ เจริญสติได้ทุกขณะ แม้แต่เป็นนายแพทย์กำลังมีลมหายใจของคนอื่นเป็นอารมณ์ หรือว่าอยู่ในรถประจำทาง หรือว่าในที่ไหนก็ตามแต่ ที่มีลมหายใจของคนอื่นมาสัมผัสมากระทบมาปรากฏก็ไม่ควรเป็นผู้ที่หลงลืมสติ เป็นปกติธรรมดาจริงๆ แต่ละบรรพก็ต้องแยกไป


    หมายเลข 5922
    1 ส.ค. 2567