มหาสติปัฏฐาน ๔ - มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องระลึกรู้


    สำหรับในคราวต่อไปก็จะเป็นเรื่องของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าท่านผู้ฟังมีความเข้าใจเรื่องของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เรื่องของเวทนาุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็จะไม่มีข้อข้องใจใดๆ ข้อสำคัญที่สุดคือ ท่านจะต้องเข้าใจถึงเรื่องของมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ ว่ามีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องระลึกรู้อย่างเรื่องของกาย เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นรูปที่ประชุมรวมกันเป็นคณะ เป็นกลุ่มเป็นก้อน ทำให้เข้าใจผิดยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ เพราะฉะนั้นก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏที่กายตามความเป็นจริง เพื่อละความเห็นผิดการยึดถือกายว่าเป็นตัว

    สำหรับเวทนาก็มีความสำคัญมากทีเดียว ซึ่งผู้ที่ต้องการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ละเลยไม่ได้ ขาดไม่ได้ ท่านคิดว่าท่านเพียงแต่จะระลึกรู้ลักษณะของกายอย่างเดียวแลh;ก็จะรู้แจ้งอริยสัจจ์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าแม้แต่ญาณที่ ๑ นามรูปปริจเฉทญาณไม่ใช่เป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของรูปอย่างเดียว แต่ว่าต้องเป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของนามที่ปรากฏด้วย วันหนึ่งวันหนึ่งมีเวทนาอะไรบ้าง คำว่า เวทนา หมายความถึงความรู้สึก ความรู้สึกเป็นสิ่งที่มีจริง มีสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา สุขเวทนาก็เป็นความรู้สึกที่เป็นสุขแช่มชื่น ทุกขเวทนาก็เป็นความรู้สึกที่เป็นทุกข์เดือดร้อน อุเบกขาเวทนาก็ได้แก่ความรู้สึกเฉยๆ ตลอดทั้งวัน หรือว่าทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นก็จะต้องมีเวทนาคือความรู้สึกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้งไป ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดก็ตาม ขณะที่นอนหลับสนิทมีจิตก็จะต้องมีเวทนาความรู้สึกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ขณะที่เห็นมีจิตที่เห็นก็จะต้องมีเวทนาความรู้สึกเกิดกับจิตที่เห็นทุกครั้ง ขอให้คิดดูว่า สมมติว่ามีแต่เพียงรูป มีสี มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย และแม้มีใจคือมีการเห็น มีการได้ยิน มีการรู้กลิ่น มีการรู้รส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แม้ว่าจะมีสิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่มีเวทนาคือความรู้สึกเป็นสุขบ้าง ความรู้สึกเป็นทุกข์บ้าง ความรู้สึกเฉยๆ บ้าง จะมีความสำคัญอะไร ถ้าเห็นแล้วก็ไม่รู้สึกว่าเป็นสุข หรือว่าเป็นทุกข์ หรือว่าเฉยๆ ถ้าได้ยินไม่เกิดความรู้สึกว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ ถ้ารับประทานอาหาร และก็ไม่เกิดความรู้สึกว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือว่าเฉยๆ ก็ไม่มีความสำคัญอะไรเลย ก็เป็นแต่เพียงเห็นก็เห็น รูปก็รูป สีก็สี เสียงก็เสียง กลิ่นก็กลิ่น แต่ที่เดือดร้อนกันทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะอย่างอื่น แต่เป็นเพราะเวทนาความรู้สึกเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์ บ้างเฉยๆ บ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้างนั่นเอง ความรู้สึกนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ยิ่งกว่าการที่มีรูปปรากฏเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย หรือว่ามีสภาพที่เห็นที่ได้ยินซึ่งเป็นจิตที่รู้สี รู้เสียง แต่เพราะเหตุว่าแต่ละท่านแสวงหาความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทำให้เกิดการเพลิดเพลิน ยึดถือว่าเป็นตัวตน หลงลืมสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูปที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็เพราะเหตุว่าความรู้สึกนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา และก็ต้องการ ทางตาอยากเห็นสิ่งที่ชอบที่พอใจ เห็นแล้วก็ทำให้เกิดความสุข ทางหูก็เหมือนกันแสวงหาอะไร ก็ต้องแสวงหาสิ่งที่เมื่อได้ยินแล้ว ให้เกิดความเพลิดเพลิน ความพอใจ ความสุข ทางจมูกก็เช่นเดียวกัน ทางลิ้นที่แสวงหารสต่างๆ ก็เพื่อให้เกิดความสุข ที่จะได้กระทบรสที่พอใจ ทางกายก็เหมือนกัน ทางใจก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเวลาที่ท่านเจริญสติจะสังเกตได้ทีเดียว ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติไม่ใช่เป็นผู้ที่บังคับสติแล้ว เวลาที่กระทบหรือว่าสัมผัสแล้วจะเกิดความรู้สึกที่สติสามารถระลึกรู้ได้ในความรู้สึกนั้น ว่าเป็นความดีใจ ความเสียใจ ความสุข หรือว่าความทุกข์ หรือว่าเฉยๆ ในวันหนึ่ง เมื่อเวทนาก็มีตั้งแต่เช้าถึงค่ำตลอดเวลา ไปจนกระทั่งถึงวันต่อๆ ไปทุกๆ ขณะจิต แต่ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนาความรู้สึกนั้นตามความเป็นจริงแล้ว ก็ย่อมจะหลงยึดถือความรู้สึกนั้นว่าเป็นตัวตน ไม่ยึดถือความรู้สึกว่าเป็นตัวตนได้ ก็จะต้องอาศัยสติระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ ข้ามไปก็ได้ ท่านเพียงรู้รูปเดียวก็สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เป็นไปไม่ได้เลย สำหรับผู้ที่เจริญสติจริงๆ จะเข้าใจได้ถูกต้องว่า เรื่องที่จะต้องระลึกรู้นั้นมีมากเหลือเกิน ไม่ใช่น้อยเลย แม้ความรู้สึกเกิดขึ้นก็จะต้องระลึกรู้ด้วย


    หมายเลข 5925
    1 ส.ค. 2567