หัตถกสูตร หัตถกเทพบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ขอยกตัวอย่างในพระสูตร
อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ตติยปัณณาสก์ กุสินารวรรคที่ ๓ หัตถกสูตร มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นเมื่อปฐมยามล่วงไป หัตถกเทพบุตรมีรัศมีงามยิ่งนัก ทำพระเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ คิดว่าจะยืนตรงพระพักตร์พระผู้มีพระภาค แล้วทรุดลงนั่ง ไม่สามารถที่จะยืนอยู่ได้ เปรียบเหมือนเนยใสหรือน้ำนมที่เขาเทลงบนทราย ย่อมจมลง ตั้งอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด หัตถกเทวบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับหัตถกเทพบุตรว่า
ดูกร หัตถกะ ท่านจงนิรมิตอัตภาพอย่างหยาบๆ
หัตถกเทพบุตรทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว นิรมิตอัตภาพอย่างหยาบ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า
ดูกร หัตถกะ ธรรมที่เป็นไปแก่ท่านผู้เป็นมนุษย์ แต่ครั้งก่อนนั้น บัดนี้ยัง เป็นไปแก่ท่านอยู่บ้างหรือ
หัตถกเทพบุตรกราบทูลว่า
พระเจ้าข้า ธรรมที่เป็นไปแก่ข้าพระองค์เมื่อยังเป็นมนุษย์ครั้งก่อนนั้น บัดนี้ก็ยังเป็นไปแก่ข้าพระองค์อยู่ และธรรมที่มิได้เป็นไปแก่ข้าพระองค์เมื่อยังเป็นมนุษย์ครั้งก่อนนั้น บัดนี้ก็เป็นไปอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้พระผู้มีพระภาคเกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์อยู่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นพระเจ้าข้า เกลื่อนกล่นไปด้วยพวกเทพบุตรอยู่ พวกเทพบุตรต่างมากันแม้จากที่ไกล ก็ด้วยตั้งใจว่า จะฟังธรรมในสำนักของหัตถกเทพบุตร ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อธรรม ๓ อย่าง ก็ได้ทำกาละเสียแล้ว ธรรม ๓ อย่างเป็นไฉน คือ
ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อการเฝ้าพระผู้มีพระภาค ๑ ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อการฟังพระสัทธรรม ๑ ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อ การอุปัฏฐากพระสงฆ์ ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่ทันอิ่ม ยังไม่ทันเบื่อธรรม ๓ ประการนี้แล ได้ทำกาละเสียแล้ว
ครั้นหัตถกเทพบุตรได้กล่าวไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้กล่าวคาถาประ พันธ์นี้ต่อไปอีกว่า
แน่ล่ะ ในกาลไหนๆ จึงจักอิ่มต่อการเฝ้าพระผู้มีพระภาค การอุปัฏฐากพระสงฆ์ และการฟังพระสัทธรรม หัตถกอุบาสกยังศึกษาอธิศีลอยู่ ยินดีแล้วในการฟังพระสัทธรรม ยังไม่ทันอิ่มต่อธรรม ๓ อย่าง ก็ไปพรหมโลกชั้นอวิหาเสียแล้ว
พรหมโลกชั้นอวิหาเป็นชั้นสุทธาวาสภูมิ ซึ่งเป็นภูมิของผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล และได้บรรลุฌานถึงขั้นปัญจมฌานด้วย มีอยู่ ๕ ภูมิด้วยกัน คือ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ อกนิฏฐาภูมิ
นี่เป็นพรหมโลก ซึ่งหัตถกเทพบุตรยังไม่ทันเบื่อการเฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังไม่ทันเบื่อการฟังพระสัทธรรม ยังไม่ทันเบื่อการอุปัฏฐากพระสงฆ์ แต่ก็ต้องจากโลกนี้ไปสู่พรหมโลกชั้นอวิหา แต่แม้กระนั้นก็จะเห็นได้จากชีวิตในพรหมโลกนั้นว่า เป็นชีวิตปกติธรรมดา มีการฟังธรรม เทพบุตรทั้งหลายก็ไปสู่สำนักของหัตถกเทพบุตร แล้วหัตถกเทพบุตรก็เจริญธรรม คือ ศึกษาอธิศีลต่อในพรหมโลก ผู้ที่เกิดในพรหมโลกเป็นพรหมมาบุคคลนั้นไม่มีกายปสาท ไม่มีทุกขเวทนาทางกาย ไม่มีสุขขเวทนาทางกาย เจริญสติปัฏฐานได้ไหม การเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้อง ต้องสาธารณะทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นภูมิไหนทั้งสิ้น การเจริญสติปัฏฐานก็ต้องเป็นการเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปตามปกติ ไม่ใช่ไปฝืน ไปทรมาน เพราะเหตุว่าถ้าเป็นไปในลักษณะนี้แล้ว ในพรหมโลกเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะนั่งเท่าไหร่ก็ไม่เมื่อย ไม่มีทุกขเวทนาทางกาย