เข้าใจจริงๆ หรือเพียงฟังมา


    อีกประการหนึ่งทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟังจากพระไตรปิฎก อรรถกถา หรือจากบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม ให้ทราบว่าเป็นความรู้ความเข้าใจของเราจริงๆ หรือยัง นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก หรือเพียงฟังมา อย่างเรื่องของนามธรรมกับรูปธรรม รูปธรรมก็ได้แก่รูปทุกๆ รูป ไม่ว่าจะเกิดแล้วดับไปก็จะเปลี่ยนเป็นนามธรรมไม่ได้ เป็นสัญญา เป็นสังขารเป็นอะไรไม่ได้ ต้องเป็นรูปจึงเป็นรูปขันธ์ ในส่วนของรูป ไม่ใช่พอเราเริ่มจะเจริญสติปัฏฐาน คนนี้จะเจริญการรู้รูปขันธ์ คนนั้นอายตนะ ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าจะรู้จักขันธ์เมื่อไร หรือว่าจะรู้จักธรรมเมื่อไร หรือว่าจะรู้จักลักษณะของนามธรรมเมื่อไร จะรู้ลักษณะของรูปธรรมเมื่อไร เพียงแต่ฟัง และก็เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ไม่ได้หมายความว่าขณะนั้นรู้แล้ว เพียงแต่ว่าฟังแล้วก็รู้ว่ายังไม่รู้อะไรตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เพียงแต่ฟังเรื่องราวของธรรม และก็เริ่มเข้าใจเรื่องราวของสิ่งที่มีจริงๆ แต่ยังไม่รู้จักตัวจริง เพราะฉะนั้นแม้จะได้ยินได้ฟังบ่อยตลอดไปด้วย ในพระไตรปิฎกจะเต็มไปด้วยคำว่ารูปารมณ์ จิตเห็น จักขุวิญญาณกับรูปารมณ์ พออ่านแล้วเหมือนรู้แล้ว ทำไมซ้ำ ทั้งพระไตรปิฎกก็มีจักขุวิญญาณ รูปารมณ์ โสตวิญญาณ สัทธารมณ์ ก็เพราะเหตุว่ายังไม่รู้จึงต้องซ้ำให้รู้จนกว่าจะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยสภาพปรมัตถธรรมจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ฟังแล้วใจก็เริ่มที่จะคล้อย เริ่มที่จะเข้าใจแค่ไหน จนกว่าสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร ก็ไม่ต้องเปลี่ยนไปไหนเลย ไม่ต้องหันซ้ายหันขวาไปที่อื่น แต่สิ่งที่ปรากฏ ไม่ต้องชี้ไปไกลๆ ด้วย สิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับเสียง กลิ่น รส แต่สิ่งนี้เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ค่อยๆ ไปทีละน้อยจนกว่าความรู้ของเราจะสามารถรู้ความต่างของนามธรรม และรูปธรรม

    แต่อย่าเรียนไปเพื่อสงสัย อย่าเรียนไปเพื่ออยากจะรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงอย่างนี้ ท่านพระสารีบุตรปฏิสัมภิทามรรคว่าอย่างนั้น แล้วเรารู้อะไร นั่นคือปัญญาของท่านเหล่านั้น แต่ปัญญาของเรา อย่าลืม มหาสมุทรกว้างใหญ่แล้วเราก็กำลังยืนอยู่ริมขอบฝั่งมหาสมุทร แล้วเราจะรู้อะไรได้มากน้อยต้องเป็นความรู้จริงๆ ได้ยินคำว่า นามธรรม รูปธรรม อย่างที่ทุกคนก็อาจจะเคยพูดภาษาบาลีคล่องแคล่ว แต่พอถึงชาตินี้ไม่รู้ ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเราสามารถเข้าใจธรรม แล้วก็สามารถที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม เพียงได้ฟังก็สามารถที่จะเข้าใจได้ไม่ว่าในภาษาใดๆ ไม่ใช่ให้เราไปฟังเพียงชื่อ จำเพียงชื่อ แต่ไตร่ตรอง แล้วก็เริ่มเข้าใจ นั่นคือการอบรมเจริญปัญญาที่สามารถจะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมได้ ไม่อย่างนั้นชาติหนึ่งเราก็จะเสียไปในเรื่องของการจำชื่อภาษาไทย พอถึงเกิดอีก ใช้ภาษาอะไรก็ไม่รู้ ที่เคยจำหมดไว้หายหมด

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 30


    หมายเลข 5932
    16 ม.ค. 2567