ชีวิตินทริยเจตสิก
ข้อความในอัฏฐสาลินี ได้อธิบายชิวิตินทรียะ ซึ่งเป็นนามธรรมมีข้อความว่า
ที่ชื่อว่าชีวิต เพราะเป็นเหตุให้ธรรมที่สัมปยุตต์ด้วยชีวิตนั้นเป็นอยู่ได้ ชื่อว่า อินทรียะ
ถ้าพบคำว่าสัมปยุตต์ ต้องหมายความถึงนามธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรมเท่านั้น ถ้านามธรรมเป็นปัจจัยแก่รูปธรรม ไม่ใช่สัมปยุตตธรรม เพราะเหตุว่าสัมปยุตตธรรมหมายความถึง ธรรมซึ่งมีสภาพซึ่งเกิดร่วมกัน เข้ากันได้สนิทอย่างดี ดับพร้อมกัน มีอารมณ์เดียวกัน และเกิดที่เดียวกัน
เพราะฉะนั้นสัมปยุตตธรรม ก็ได้แก่ จิตปรมัตถ์และเจตสิกปรมัตถ์เท่านั้น เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรมด้วยกัน จึงเข้ากันได้อย่างสนิท นามธรรมเป็นปัจจัยแก่รูปธรรมได้ไหม ได้ แต่ไม่สามารถจะเข้ากลมกลืนสนิทเหมือนนามธรรมต่อนามธรรม เพราะฉะนั้นนามธรรมที่เป็นปัจจัยแก่รูปธรรม เป็นโดยวิปยุตตปัจจัยรูปธรรมเป็นปัจจัยให้เกิดนามธรรมได้ไหม ได้แต่ไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกันคือ ไม่สามารถที่จะเข้ากันสนิทกลมกลืนเหมือนกับสภาพธรรมซึ่งเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกันมีอารมณ์เดียวกันและเกิดที่เดียวกันได้ เพราะฉะนั้นรูปธรรมใดซึ่งเป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดขึ้นได้ โดยเป็นวิปยุตตปัจจัย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นปัจจัยโดยสัมปยุตตปัจจัยแล้ว หมายเฉพาะนามธรรม คือ จิตและเจตสิกเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันเท่านั้น
เพราะฉะนั้นข้อความที่ว่า
ที่ชื่อว่า“ชีวิต”เพราะเป็นเหตุให้ธรรมที่สัมปยุตต์ด้วยชีวิตนั้นเป็นอยู่ได้ ชื่อว่าอินทรียะ จึงหมายความถึงชีวิตินทรียเจตสิก เพราะมีสภาพครอบครองความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการตามรักษาชีวิตนั่นแลเป็นอินทรีย์จึงชื่อว่าชีวิตินทรียะ
เป็นใหญ่ไหมคะ ถ้าไม่มีสภาพธรรมทั้งหลาย ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เพราะฉะนั้นที่จิตดำรงอยู่แม้ชั่วขณะเล็กน้อย ก็ให้เห็นว่าเป็นเพราะชีวิตินทรียเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือ อุปถัมภ์จิตและเจตสิกอื่น ๆ ซึ่งเกิดพร้อมกัน ให้ดำรงอยู่ได้
เพราะฉะนั้นจึงมีข้อความว่า
เพราะว่ามีสภาพเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการตามรักษาชีวิตนั่นแล เป็นอินทรีย์ จึงชื่อว่า ชีวิตินทรียะ
เมื่อว่าโดยลักษณะเป็นต้น
ชีวิตินทรียะนั้นมีการอุปถัมภ์รักษาธรรมทั้งหลายที่ไม่แยกจากตนเป็นลักษณะ
มีการทำให้ธรรมเหล่านั้นเป็นไปเป็นรส
มีความดำรงไว้ซึ่งธรรมเหล่านั้นแหละ เป็นปัจจุปัฏฐานคือ เป็นอาการที่ปรากฏ
มีธรรมที่พึงให้เป็นไปได้เป็นปทัฏฐาน