ทบทวนปัจจัย - อนันตรปัจจัย


    ปัจจัยที่ ๗โดยอนันตรปัจจัยคือ เป็นปัจจัยโดยให้จิตและเจตสิกขณะต่อไปเกิดสืบต่อเมื่อจิตนั้นและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยดับไป ไม่มีระหว่างคั่นเลย การเกิดดับสืบต่อของจิตและเจตสิก เพราะเหตุว่าจิตทุกดวงและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นอนันตรปัจจัยหมายความว่าทำให้ขณะต่อไปเกิดขึ้นเมื่อจิตและเจตสิกขณะนั้นดับไปสำหรับอนันตรปัจจัยก็เป็นปัจจัยได้เฉพาะนามธรรมเท่านั้น

    เวลานี้มีใครมีอำนาจเป็นตัวตน ที่จะไม่ให้จิตในขณะนี้เป็นอนันตรปัจจัยได้ไหม ? ไม่มีทางเลย ใครที่บอกว่าไม่อยากเกิด ไม่สามารถที่จะทำให้จิตเจตสิกไม่เกิดได้ถ้าจิตเจตสิกนั้นยังเป็นอนันตรปัจจัยอยู่ เพราะฉะนั้นมีจิตขณะเดียวที่ไม่เป็นอนันตรปัจจัยคือจิตไหนคะ ?จุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้นซึ่งเมื่อจุติจิตของพระอรหันต์ดับแล้วจะไม่มีจิตอื่นเกิดสืบต่อเลย

    ถาม จุติจิตของบุคคลที่จะไปเกิดเป็นอสัญญสัตตาพรหมนี้เป็นอนันตรปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตของคนนั้นที่ปฏิสนธิหลังจากที่ตายจากการเป็นอสัญญสัตตาพรหมหรือเปล่า ?

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ถาม และจิตของพระอรหันต์ก่อนที่จะเข้านิโรธสมาบัติก็เป็นอนันตรปัจจัยเช่นเดียวกันแก่จิตขณะแรกที่ออกจากสมาบัติ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ถ้าไม่เป็นอนันตรปัจจัยจะไม่มีจิตเกิดแน่ๆ หลังจากนั้นใช่ไหม ?

    ถาม ครับแต่อนันตรปัจจัยนี้เป็นปัจจัยโดยที่ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่นแต่นี่ระหว่างตั้งเยอะแน่ะครับอาจารย์

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าที่ไม่มีเกิดขึ้นด้วยกำลังของฌาน ยกเว้นเป็นพิเศษ

    ใครอยากจะทำอย่างนั้นก็ได้คือ ธรรมเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถจะกระทำได้จริง ๆ ถ้าเหตุสมควรแก่ผลแต่ไม่ใช่ว่าหลอกตัวเองทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่นิโรธสมาบัติก็คิดว่าเป็นนิโรธสมาบัติอันนั้นเป็นความเข้าใจผิดเป็นความเห็นผิดแต่ถ้าต้องการจะกระทำก็ย่อมได้แต่เหตุต้องสมควรแก่ผล

    ถาม คนที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้หมายความว่าจะต้องได้ฌานโลกีย์คือ อรูป

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่จะเข้านิโรธสมาบัติคือ ขณะที่ดับจิตเจตสิกไม่มีนามธรรมเกิดเลยได้ ผู้นั้นต้องเป็นพระอนาคามีบุคคลหรือพระอรหันต์ที่ได้อรูปฌานขั้นสูงที่สุด

    เพราะฉะนั้นสำหรับพระโสดาบัน พระสกทาคามีก็ไม่สามารถที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ถ้าเป็นผู้ที่ได้อรูปฌานขั้นสูงสุดคือ ถึงเนวสัญญานาสัญญา แต่เป็นปุถุชนหรือเป็นพระโสดาบันหรือเป็นพระสกทาคามีก็เข้าไม่ได้

    ถาม คือหมายความว่าจะต้องมีสมถพละและวิปัสสนาพละควบคู่กันไป

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง


    หมายเลข 6050
    26 ส.ค. 2558