บ้านธัมมะ ม.ค. ๒๕๕๒ ตอนที่ 32


    สนทนาธรรมที่บ้านธรรม เชียงใหม่

    ๑๓-๑๔-๑๕ มกราคม ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ อยากให้มีปัญญามากๆ กำลังอยากนั้นเป็นปัญญา หรือเปล่าคะ แล้วจะมากได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ก็รู้หนทาง คือ ฟังไปเท่าที่มีเวลา มีโอกาส เป็นหนทางที่ทำให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น ก็รู้หนทางเหมือนกัน แต่หนทางนั้นยาวไกลเหลือเกิน

    ท่านอาจารย์ คุณนิภัทรทำให้สั้นได้ไหมคะ

    อ.นิภัทร สงสาร การท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏฏ์ยาวสำหรับคนโง่ เราก็ต้องอย่างนี้ ได้นิดได้หน่อยก็ได้ แต่ความพอใจของเราไม่สิ้นสุด มันอยาก อยากก็เป็นธรรม ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม อยากมีความรู้ อยากก็เป็นธรรม ถ้าเรารู้ว่า อยากเป็นธรรม ก็เป็นความรู้แล้ว ไม่พอใจก็เป็นธรรม เรารู้ว่าไม่พอใจเป็นธรรม ก็เป็นความรู้แล้ว ไม่มีอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเรามีพื้น ที่ได้จากท่านอาจารย์ท่านแนะนำ เราก็เอามาใช้ในชีวิตประจำวันเราได้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม แล้วเราก็ยังไปแสวงหาธรรมที่อื่น ที่จริงของที่มีอยู่ แต่เราไปหาสิ่งที่ไม่มี ไปนั่งเสียเวลาหาสิ่งที่ไม่มี เพราะฉะนั้นเราก็ต้องศึกษาอย่างนี้ ศึกษาเพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่มีอยู่เป็นสิ่งที่ต้องรู้ ไม่ใช่สิ่งที่เรามองข้าม หรือละเลย เพิกเฉย

    จะถามอะไรก็ได้ แต่คอยฟังคำตอบครับ ไม่จำเป็นต้องประดิษฐ์ประดอยคำถาม ถามอะไรก็ได้ แต่คอยฟังว่า ท่านอาจารย์จะตอบว่าอย่างไร อันนั้นสำคัญที่สุด เพราะว่าท่านอาจารย์ท่านจะตอบให้เราได้คิดทุกอย่างเลยที่ถามมา ไม่ว่าจะถามอะไร แม้แต่สิ่งที่ไม่น่าจะถาม ท่านก็ให้ประโยชน์แก่เราได้หมด มีอะไรจะถามละครับ

    ผู้ฟัง เมื่อวานนี้อาจารย์ได้ทิ้งท้ายในเรื่องอริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่ามีสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ อยากให้อาจารย์อธิบายอาการเหล่านี้ ที่บอกว่า ทุกข์ ควรทำให้รู้ สมุทัย หรือตัณหา ควรให้ละ นิโรธ ควรให้แจ้ง มรรค ควรให้เจริญ ขอให้อาจารย์อธิบาย

    ท่านอาจารย์ ทุกข์ที่เป็นความจริง ซึ่งใครก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขได้ คือ การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้ ทุกข์อื่นก็ยังพอจะแก้ไขได้ ใช่ไหมคะ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์กาย ป่วยไข้ไปหาหมอ รับประทานยาก็พอแก้ไขได้ ทุกข์อื่นๆ ทั้งหมด ก็ยังมีทางเปลี่ยนจากทุกข์เป็นสุข เป็นความรู้สึกเฉยๆ ที่ไม่ทุกข์อีกต่อไป แต่สำหรับทุกข์ที่เป็นอริยสัจจะ คือ ความจริงที่พระอริยะทั้งหลาย คือ ผู้ที่มีปัญญาทั้งหลายที่ได้อบรมแล้ว สามารถจะเห็นได้ คือ สภาพธรรมขณะนี้เกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็วมาก แล้วยังจะต้องการอะไรกับสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ ด้วยเหตุนี้ถ้ามีความรู้อย่างนี้ จึงสามารถละความต้องการ หรือความติดข้อง ที่ต้องการให้มีสภาพนั้นๆ เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก อยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้แม้ขณะนี้เป็นทุกข์ แต่ยังไม่ได้รู้ คือ ไม่ได้ประจักษ์แจ้ง ซึ่งต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่อวิชชา ถึงสามารถประจักษ์แจ้งได้

    ด้วยเหตุนี้ สัจจะที่เป็นสัจจะแรกของอริยสัจจะ ๔ ก็คือ สัจจญาณ ปัญญาที่สามารถเข้าใจความจริงขณะนี้ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ แต่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง แต่ต้องมีความมั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรมเท่านั้น ซึ่งเกิดจึงเป็นธรรมนั้นๆ แล้วก็ดับไป ไม่มีใครสามารถจะไปแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับได้ ถ้ามีความมั่นคงอย่างนี้ เป็นปัจจัยให้มีการระลึกรู้สิ่งที่กำลังเป็นลักษณะนั้นที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ซึ่งเป็นกิจจญาณ กิจจญาณไม่ใช่เราไปนั่งทำอะไร แต่จากการเข้าใจ ก็จะทำให้รู้ว่า สติสัมปชัญญะเป็นอนัตตา ไม่ใช่สิ่งที่ใครสามารถจะบอกให้เกิดได้ เตือนให้เกิดได้ ทำให้เกิดได้ แต่เพราะมีความเข้าใจที่มั่นคงที่เป็นสัจจญาณว่า ปัญญารู้อะไร ปัญญารู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นก็อบรมเจริญความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏ คลายความไม่รู้ คลายความสงสัย คลายความติดข้อง ไม่เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง นี่คือกิจจญาณ และเมื่อใดประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็นการแทงตลอดลักษณะที่แท้จริง ที่กำลังเกิดดับ ก็เป็นกตญาณ

    ในสัจจะที่ ๑ มีทั้งสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ พอถึงสัจจะที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็โดยนัยเดียวกัน

    ผู้ฟัง ขอให้อธิบายคำที่บอกว่า ทุกข์ควรให้รู้ แล้วสมุทัย หรือกิเลส หรือตัณหา ควรให้ละ นิโรธ การดับทุกข์ ควรทำให้แจ้ง แล้วมรรคทำให้เจริญ ขอให้อธิบายคำท้ายนี้ด้วยครับ

    ท่านอาจารย์ คำท้ายหมายถึงอะไรคะ

    ผู้ฟัง คืออย่างที่บอกว่า ทุกข์ควรให้รู้ แล้วเราก็รู้แล้ว

    ท่านอาจารย์ ทุกข์ขณะนี้มี หรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ อะไร

    ผู้ฟัง ทุกอย่างเป็นทุกข์หมด

    ท่านอาจารย์ สักอย่างหนึ่งค่ะ

    ผู้ฟัง อย่างมาฟังนี่ก็เป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือคะ

    ผู้ฟัง ก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ธรรมอะไร

    ผู้ฟัง ธรรมในทางกุศล

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ใช่ตัวทุกข์นะคะ เป็นเรื่องราวของทุกข์ แต่ขณะนี้มีสภาพธรรมที่เกิดดับ หรือเปล่า เพราะว่าทุกข์ที่เป็นอริยสัจจะ ต้องเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ จึงเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าไม่น่ายินดี ไม่น่าติดข้องในสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลยสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ ขณะนี้มีธรรมที่เกิดดับ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มีตลอดเวลาครับ

    ท่านอาจารย์ อย่างหนึ่งค่ะ ทีละอย่าง

    ผู้ฟัง มีเกิด

    ท่านอาจารย์ อะไรเกิด

    ผู้ฟัง ก็เกี่ยวกับทุกข์ใจที่ได้รับ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ค่ะ

    ผู้ฟัง ไม่ทราบครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ควรรู้ค่ะ รู้คือฟังจนกว่าจะเข้าใจ เป็นสัจจญาณ เมื่อเข้าใจมั่นคง

    ผู้ฟัง นี่หมายความว่าเป็นสิ่งที่ควรรู้

    ท่านอาจารย์ ปัญญาควรรู้สิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มี

    ผู้ฟัง แล้วตัณหานี่ควรละ

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้แล้วละไหมคะ รู้ว่าไม่ใช่อะไรเลยสักอย่างเดียว นอกจากธรรมแต่ละลักษณะ เกิดจึงปรากฏ ปรากฏแล้วก็หมดไป

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นกิเลสให้ทุกข์ เราก็ควรละ

    ท่านอาจารย์ กิเลสมีจริงๆ เป็นของใคร เกิดดับ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังเป็นกิเลสของเรา จะไม่ประจักษ์ว่า กิเลสนั้นเกิดดับ เป็นเราทุกข์ แล้วก็กิเลสของเรา แต่เมื่อไรที่รู้ว่า ลักษณะของกิเลสเป็นธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ กิเลสเป็นเรา หรือเป็นของเรา หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ของเราครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้อย่างนี้จะละความติดข้องในธรรมที่เกิด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ควรละ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นอริยสัจจะที่ ๒

    ผู้ฟัง สัจจะที่ ๓ ก็คือ นิโรโธ หรือการดับทุกข์ คือการดับให้หมดสิ้นไป

    ท่านอาจารย์ อะไรดับ

    ผู้ฟัง กิเลสดับไป

    ท่านอาจารย์ อะไรดับกิเลส

    ผู้ฟัง ในการดับนั้น อยู่ที่ไหนก็ดับที่นั่น ปัญญา คือ ฟังมาบอกว่า กิเลสนี่เกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น หรือดับด้วยปัญญา อันนี้เท่าที่ศึกษามา

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนนะคะ ถ้าพูดถึงสภาพธรรมที่เกิดดับ ก็คือ ทุกขอริยสัจจะที่ ๑ ไม่ใช่ที่ ๓ นี่กำลังพูดถึงสัจจะที่ ๓ หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดดับ หรือเปล่า เพราะว่าถ้ากล่าวถึงการเกิดดับต้องเป็นสัจจะที่ ๑

    ผู้ฟัง นิโรโธ ดับไป จะดับเท่าไรก็อยู่ที่ปัญญา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่เข้าใจในอริยสัจทั้ง ๔ ก็จะไม่เข้าใจว่า สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณนั้นคืออย่างไร เพราะประการที่ ๑ คือ สัจจญาณ ต้องในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ถึงความต่างกันของอริยสัจจะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เพราะว่าไม่ใช่มีแต่เพียงทุกขอริยสัจจะเท่านั้น เพราะฉะนั้นโดยมากได้ยินได้ฟังธรรมนิดหน่อย แล้วก็คิดเองเยอะ แต่ถ้าเราไม่คิดเอง เราก็ศึกษาให้เข้าใจเพิ่มขึ้น ชัดเจนขึ้น

    ผู้ฟัง อันนี้คิดเองครับ

    ท่านอาจารย์ คิดเองคงไม่ตรง ไม่ถูกแน่ค่ะ เพราะไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ต่อไปนี้ก็เลิกคิดเองดีไหมคะ

    คำว่า “เคารพธรรม” ใช่ไหมคะ แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ก็คิดว่า ธรรมใดควรเคารพ หรือควรจะมีอะไรเป็นที่เคารพ ก็ปรากฏว่าไม่มีอะไรอื่นเลย นอกจากธรรม แต่ก็ต้องทราบว่า ธรรมที่จะเป็นเคารพ ที่สักการะ ก็คือธรรมรัตนะ เพราะเหตุว่าพระรัตนตรัย มี ๓ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ

    พุทธรัตนะ ก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมรัตนะ หมายความถึงธรรมฝ่ายกุศลที่สามารถทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม และดับกิเลสได้ เป็นนวโลกุตตรธรรม ๙ คือ นิพพาน ๑ ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์ ที่เป็นนิพพาน ก็ไม่เป็นปัญญาที่เมื่อรู้แจ้งแล้วสามารถดับกิเลสได้

    ด้วยเหตุนี้โลกุตตรธรรม ๙ คือ มรรคจิต ๔ โสตาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค และโลกุตตรวิบากซึ่งเป็นผล คือ โสตาปัตติผลจิต สกทาคามิผลจิต อนาคามิผลจิต อรหัตตผลจิต รวม ๘ และนิพพาน ๑ รวมโลกุตตรธรรม ๙ เป็นธรรมที่เป็นรัตนะที่ควรเคารพ ไม่ใช่เราจะไปเคารพอกุศล แต่เคารพธรรมที่สามารถจะดับกิเลสได้ และสำหรับพระสงฆ์ หรือสังฆรัตนะ หมายความถึงพระอริยสงฆ์ ไม่ใช่สมมติสงฆ์

    เพราะฉะนั้นเคารพธรรม ก็คือพระรัตนตรัย ซึ่งมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แสดงหนทางที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะถึงความเป็นโลกุตตระได้ และผู้ที่ควรจะเคารพ คือ ผู้ที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ว่าคฤหัสถ์ หรือบรรพชิต เป็นสังฆโสภณ คือ เป็นหมู่ของสงฆ์ที่งาม เพราะเหตุว่าสามารถดับกิเลสได้ ตั้งแต่พระโสดาบันจนกระทั่งถึงพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ด้วยว่า เคารพในธรรม หรือว่าเคารพในพระรัตนตรัยนั้นคืออะไร

    ผู้ฟัง อย่างเพียงแค่รู้ชื่อ และศึกษาอริยสัจจธรรม แล้วก็จำได้แต่เพียงชื่อ ก็ยังไม่ชื่อว่า มีความเคารพในพระรัตนตรัยใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ชื่อว่า เคารพ หรือว่าตามความเป็นจริง ถ้าไม่รู้จักพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่า รู้จักพระพุทธเจ้า หรือยัง

    ผู้ฟัง ยังครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วเคารพใคร

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้เคารพใคร

    ท่านอาจารย์ เพียงแต่รู้ว่า บุคคลนั้นเป็นผู้เลิศ ดับกิเลสได้ ไม่มีผู้ใดเสมอ หรือเปรียบปานได้เลยในคุณความดี ในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็กราบไหว้ แต่ยังไม่รู้จักเลยว่า ตรัสรู้อะไร ทรงแสดงธรรมอะไร เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นอย่างไร เพราะฉะนั้นความเคารพขณะนั้นก็ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา และก็ไม่ชื่อว่า รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ เพียงแต่ได้ยินชื่อ และคิดถึงพระคุณ ซึ่งไม่ได้รู้ว่าพระคุณนั้นมากมายมหาศาลแค่ไหน แต่ก็มีความเคารพที่เพียงได้ยินแล้วก็มีความเชื่ออย่างนั้น มีศรัทธาอย่างนั้น ก็มีความเคารพ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นความเคารพก็มีหลายขั้นของกุศลที่เกิด ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ธรรมทั้งหมดมีตั้งแต่น้อยที่สุด จนกระทั่งถึงมาก


    หมายเลข 6076
    18 ธ.ค. 2566