บ้านธัมมะ ม.ค. ๒๕๕๒ ตอนที่ 35
สนทนาธรรมที่บ้านธรรม เชียงใหม่
วันที่ ๑๓-๑๔-๑๕ มกราคม ๒๕๕๒
ท่านอาจารย์ จะมีแต่จิตโดยไม่รู้อารมณ์ไม่ได้เลย และถ้าศึกษา และได้อ่านข้อความต่อไปอีก ก็จะมีคำว่า “จิตเป็นสภาพที่มากด้วยความคิด” ก็จะมีการเพิ่มเติมอีกว่า โดยนัยที่กล่าวว่า จิตเป็นสภาพคิดแต่ต้องไม่ลืมว่า คิดที่นี่ คือ รู้อารมณ์เท่านั้น เพราะเหตุว่าธรรมดาขณะนี้จิตปรากฏ หรือเปล่า หรือถ้าคนที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรม เขาก็บอกว่า จิตมี เมื่อไร เวลาคิดเป็นจิตที่กำลังคิด ถามเขาว่า แล้วเห็นเป็นจิต หรือเปล่า ตอบไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจว่า แม้กำลังเห็นก็เป็นจิตที่กำลังรู้ คือ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่า “รู้” ก็ต้องพิจารณาว่า เราเข้าใจความรู้ในความหมายใด บางคนก็เข้าใจว่า “รู้” หมายถึงปัญญาที่รู้ถูก เห็นถูก นั่นคือรู้ ถ้าไม่รู้ก็คือไม่เข้าใจ ไม่เห็นถูก ไม่รู้ เราเข้าใจแคบๆ แต่ว่าศึกษาธรรมมาก ต้องตรง แม้แต่คำว่า จิตมีสภาพต้องคิด มีคำอธิบายว่า ไม่ใช่ในความหมายอื่น แต่เป็นความหมายที่ต้องเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ และถ้าจะรู้ลักษณะของจิตต่อไป ก็จะมีคำว่า จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ คือ ทั้งหมดจะต้องสอดคล้อง และถูกต้องตั้งแต่ต้น แต่จะมีคำขยายมากขึ้น ให้เข้าใจถูกต้องขึ้น เพราะว่าบางคนเพียงรู้ว่ามีจิต แต่เห็น เป็นจิต หรือเปล่าก็ไม่รู้ เข้าใจว่าเป็นเรา ได้ยินนี่ หรือเป็นจิต บางคนก็จะเกิดความสงสัยว่า แค่ได้ยินเป็นอะไรก็ยังไม่รู้เลย เป็นเราได้ยิน หรือถ้าศึกษามาก็บอกว่า เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ก็ไม่รู้ว่า นั่นแหละคือจิต ที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ คือ สิ่งที่จิตกำลังรู้
ด้วยเหตุนี้คำอธิบายต่อๆ ไป ก็จะมีว่า จิตเป็นสภาพที่มากด้วยความคิด พอที่จะเข้าใจจิตได้ ใช่ไหมคะ ขณะที่เห็นไม่ได้คิด ขณะที่ได้ยิน กำลังมีสิ่งที่ปรากฏที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้นขณะนั้นจะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่ยังไม่ดับ ยังไม่รู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร ยังไม่มีการมีชื่อ หรือว่ามีคำใดๆ เลยทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็อย่าเพิ่งคิดว่าจะเข้าใจได้ทั้งหมดทันที แล้วสิ่งใดก็ตามที่พอจะเข้าใจได้ในตอนต้น ก็ได้กล่าวถึงในตอนต้น สิ่งใดที่จะเข้าใจได้ละเอียดขึ้นก็ได้กล่าวถึงต่อๆ ไป เพื่อที่จะได้เข้าใจสภาพธรรมนั้น
เพราะฉะนั้นจึงทรงแสดงจิตโดยกิจด้วย หมายความว่าเมื่อเป็นนามธรรมเกิดแล้ว ก็จะต้องทำกิจหนึ่งกิจใดเฉพาะลักษณะที่เป็นนามธรรมนั้นๆ เช่นจิตเห็น ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย เพราะว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นที่ยังไม่ดับไปเท่านั้น เสียงก็เหมือนกันที่ปรากฏ จิตได้ยินก็จะรู้เฉพาะเสียงที่ยังไม่ดับ
นี่ก็เป็นสิ่งที่สอดคล้อง แต่ต้องเข้าใจความหมายของคำที่แสดงไว้ทั้งในพระไตรปิฎก และในอรรถกถาด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่เป็นที่สงสัย ใช่ไหมคะในทั้ง ๒ พยัญชนะ
ผู้ฟัง เมื่อวานนี้ที่พูดถึงเรื่องไปคิดในทางที่ผิด เช่น พูดเรื่องจิต รูป ต้อง ๑๗ ขณะกว่าจะดับ ไปคิดเรื่องราวอะไรมากมาย ซึ่งท่านอาจารย์ก็พูดว่า ซึ่งช่วยมากทีเดียวว่า ทราบไหมว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องนี้ทำไม ก็เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ก็ทำให้เข้าใจอีกมุมมองหนึ่ง ที่ทำให้เราไม่หลงคิดไปในทางที่ผิด ก็เลยทำให้คิดไปอีก ๒ เรื่องที่ตัวเองไปหมกมุ่นคิดพยายามหาเหตุผล ก็เลยอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ท่านสอนเรื่องนี้ทำไม ๑. คือ เรื่องวิถีจิต เรื่องที่ ๒ ที่มีชาติหน้า ชาติหลัง ท่านสอนมีจุดประสงค์ต้องการให้เราเห็นอะไร เข้าใจอะไร ขอเรียนถามค่ะ
ท่านอาจารย์ จิตเกิดแล้วดับ ใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ ไม่มีวันหยุด ไม่มีเวลาหยุด เว้นขณะที่เป็นนิโรธสมาบัติ ซึ่งขณะนี้ก็ไม่มี ก็ไม่กล่าวถึง แต่ให้ทราบว่า การเกิดดับของจิต ไม่ว่าจะในอดีตนานมาแล้วก็เป็นอย่างนี้ ขณะนี้ก็เป็นอย่างนี้ และเมื่อจุติจิต คือ จิตขณะสุดท้ายเกิดขึ้น ก็ไม่จบเพียงแค่ชาตินี้ ก็เป็นปัจจัยที่จะให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ เป็นจิตขณะแรกของชาติต่อไป เหมือนกับจิตขณะแรกของชาตินี้ก็สืบต่อมาจากจุติจิตของชาติก่อน แสดงให้เห็นธาตุ หรือธรรมที่ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง หรือยับยั้งได้เลย เมื่อเป็นจิตเกิดแล้วก็ดับไป การดับไปของจิตนั้นก็จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เว้นจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น ที่เมื่อดับไปแล้ว ไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิต หรือจิตใดๆ เกิดสืบต่อได้เลย
ผู้ฟัง ตรงนี้เพื่ออธิบายว่า ชาติหน้าชาติหลังมีขึ้นได้เพราะอะไร
ท่านอาจารย์ เพื่ออธิบายว่า ลักษณะของจิตเป็นอย่างนี้ ใครจะรู้ หรือไม่รู้ก็เป็นอย่างนี้ แม้ขณะก่อนๆ จิตก็เป็นอย่างนี้ แม้ขณะต่อไปอีกนานเท่าไร จิตก็ต้องเป็นอย่างนี้
ผู้ฟัง และอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องวิถีจิตว่า ท่านสอนเรื่องนี้มีจุดประสงค์อะไร
ท่านอาจารย์ ให้รู้ว่าขณะนี้เป็นจิตประเภทไหน เพราะว่าจิตหลากหลายมากเท่าที่เราจะรู้ได้ ตอนหลับสนิทมีจิต หรือเปล่า
ผู้ฟัง เมื่อกี้ว่ามีจิต คือจิตมีตลอด
ท่านอาจารย์ เมื่อกี้ว่า หรือความจริงมี
ผู้ฟัง ความจริงมีค่ะ
ท่านอาจารย์ เมื่อความจริงไม่ใช่คนตาย ที่ต่างกันก็คือว่า ขณะที่นอนหลับสนิท ยังไม่ตาย จิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ยังไม่เกิด หมายความว่ายังไม่มีจิตที่ทำกิจพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้นก็ยังคงความเป็นบุคคลนี้เหมือนปฏิสนธิจิต เป็นผลของกรรมใด ทำให้ปฏิสนธิจิตเป็นจิตประเภทใด เวลาที่ปฏิสนธิจิตขณะแรกดับไปแล้ว กรรมนั้นก็ทำให้จิตประเภทเดียวกันเกิดสืบต่อดำรงภพชาติ ระหว่างที่ยังไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และคิดนึก
เพราะฉะนั้นจิตไม่ใช่ใครเลยสักคน แต่ก็เป็นสภาพของธรรมที่มีจริง และก็ต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็แสดงตามความเป็นจริงของจิตอย่างนี้ว่า จิตขณะนี้เป็นจิตอะไร ถ้าเป็นจิตที่กำลังเห็น ไม่ใช่ภวังคจิต เพราะว่าภวังคจิตเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตขณะแรก ชื่อว่า ปฐมภวังค์ ขณะนี้เป็นภวังค์ที่เท่าไรคะ
ผู้ฟัง นับไม่ถ้วน
ท่านอาจารย์ นับไม่ได้ ก็ไม่ต้องนับ แต่ที่กล่าวถึงปฐมภวังค์ ก็เพราะเหตุว่าแสดงให้รู้ว่า เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ปฐมภวังค์จะเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น รูปที่เกิด เกิดเพราะจิตได้ ในขณะที่เป็นปฐมภวังค์ แต่ในขณะที่ปฏิสนธิ มีเฉพาะรูปที่เกิดจากกรรมเท่านั้น ทรงแสดงความละเอียดยิ่งขึ้นเพื่อให้เห็นว่า ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงธรรมได้เลย ยิ่งเข้าใจความละเอียดก็ยิ่งเห็นว่า เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยทั้งสิ้น จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก รูปเป็นรูป ทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน ยิ่งเข้าใจละเอียดขึ้น ก็ยิ่งทำให้เวลาสติสัมปชัญญะเกิด มีลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ความเข้าใจที่สะสมมาแล้ว สามารถที่จะเห็นถูกในความเป็นจริงของสิ่งนั้น แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจเป็นพื้นฐานเลย แม้ขณะนี้แข็งปรากฏ ก็ไม่สามารถรู้ว่า แข็งเป็นธรรม เป็นสิ่งที่สามารถปรากฏ เมื่อจิตที่สามารถเกิดขึ้นโดยอาศัยกายปสาทเท่านั้น จึงสามารถรู้สภาพแข็งที่ปรากฏได้
นี่ก็คือพระมหากรุณาที่ทรงแสดงความละเอียดของสภาพธรรมทั้งหมด เพื่อให้มีความเข้าใจถูกเป็นพื้นฐาน ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในอดีตต้องเป็นพหุสุตตะ หรือพหูสูตที่แปลในภาษาไทย หมายความว่าเป็นผู้ที่ฟังมาก เข้าใจมาก ไตร่ตรองมาก เป็นพื้นฐานที่เมื่อฟังอีก ก็เข้าใจได้เร็ว หรือสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามที่เข้าใจทุกคำที่ได้ยิน ไม่ผิดจากนั้นเลย ไม่ใช่ความจริงเป็นอย่างหนึ่ง แสดงอย่างหนึ่ง แล้วก็ไปรู้อีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ แต่ทั้งหมดที่กำลังได้ยินได้ฟัง เป็นสิ่งที่ปัญญาที่ได้อบรมแล้วสามารถประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริงได้ แต่ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่ได้อบรมแล้ว กำลังฟังอย่างนี้ก็ไม่สามารถจะรู้ความจริงได้ แต่ก็อบรมจนกระทั่งสามารถค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งไม่หลงลืม ซึ่งจะรู้ได้ว่า ขณะนี้ใครหลงลืม หรือไม่หลงลืม ก็เพราะเหตุว่ามีความเข้าใจในสภาพธรรมมั่นคงแค่ไหน แล้วไม่หวังด้วยว่าจะต้องไปรอคอยชาตินี้ หรือชาติหน้า หรือชาติไหน เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาที่สะสมมาถึงกาลที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยการประจักษ์แจ้ง หรือยัง
ผู้ฟัง ทีนี้มีปัญหาอยู่ตรงปฏิสนธิจิต หลังจากจุติจิตว่าจะไปเกิดเป็นอะไร คือ จิตเกิดดับก็จริง จะไปเกิดเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ สิ่งที่สะสมไปเกี่ยวข้องตรงไหนอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ ขณะต่อไป อะไรจะเกิดขึ้นคะ ต่อแต่นี้ไปอะไรจะเกิดขึ้น
ผู้ฟัง ไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วตอนตายจะไปเกิดที่ไหน จะรู้ได้อย่างไรคะ
ผู้ฟัง แต่อธิบายไว้ใช่ไหมว่า จะไปเกิดเป็นอะไร ขึ้นอยู่กับสะสมอะไรไว้
ท่านอาจารย์ กรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว
ผู้ฟัง ซึ่งอันนี้เรียกว่า การสะสมไปในรูปของจิต ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ กรรม หมายถึงเจตนาที่ได้กระทำกรรมนั้นสำเร็จ สามารถทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอกุศลกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย เมื่อจุติจิตดับ อกุศลวิบากเกิดขึ้นเป็นขณะแรกสืบต่อจากจุติจิต ชื่อว่า ปฏิสนธิจิตขณะนั้นเป็นผลของอกุศลกรรม แต่จะรู้ไหมคะว่า อกุศลกรรมอะไร
ผู้ฟัง ไม่ทราบค่ะ อกุศลกรรมอันนั้นที่เป็นวิบาก เป็นจิตใช่ไหมคะ กำลังพูดถึงจิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ดับในชาตินี้แล้วก็เกิดขึ้นทันที แต่ดับแล้วก็เกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนี้ค่ะ ไม่ว่าชาติไหน
ผู้ฟัง ก็ทำให้เข้าใจว่า สิ่งที่สะสมไว้เป็นจิต เมื่อดับไปแล้ว จิตนี้ก็ไป ...
ท่านอาจารย์ จิตไหนก็ไปไหนไม่ได้ จิตเกิดแล้วก็ดับ ทุกอย่างที่สะสมในจิตขณะก่อนเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เป็นไปตามสังขารขันธ์แต่ละขณะ ไม่หายไปไหนเลย ทุกขณะที่กำลังฟัง กำลังเข้าใจ สะสมสืบต่อเป็นสังขารขันธ์ที่จะทำให้จิตประเภทไหนเกิดเมื่อไร
ผู้ฟัง นั่นหมายความว่า จิตใหม่ที่เกิดขึ้นได้สืบต่อจากอันที่ดับไป คือ ใช้คำพูดไม่ถูก คล้ายๆ เป็นคุณสมบัติของจิต อันนั้นเป็นจิตใหม่ อันนั้นอีกทีอย่างนั้น ใช่ไหมคะ หมายความว่าอย่างนั้นใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ เหมือนเดี๋ยวนี้กับเมื่อกี้นี้เลย ต่อกัน หรือเปล่า
ผู้ฟัง ต่อกันค่ะ
ท่านอาจารย์ สืบต่อจากเมื่อกี้นี้ หรือเปล่า
ผู้ฟัง สืบต่อค่ะ
ท่านอาจารย์ อะไรที่มีในจิตขณะก่อน สืบต่อมาถึงขณะนี้ หรือเปล่า
ผู้ฟัง สืบต่อค่ะ แต่สิ่งที่ไม่เข้าใจก็คือว่า สิ่งที่สืบต่อคือจิต หรือเปล่า หรือเป็นประเภทของจิต
ท่านอาจารย์ จะรู้จักจิตได้ โดยนัยประการต่างๆ ขอเชิญคุณธิดารัตน์ค่ะ
อ.ธิดารัตน์ ลักษณะของจิตนอกจากเป็นธรรมชาติรู้อารมณ์ โดยการเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แล้ว เมื่อดับไปเป็นปัจจัยให้จิตดวงใหม่เกิดขึ้น แล้วมีการสืบต่อ สันตานะ สืบต่อทุกอย่างที่สะสมไว้ เพราะว่าจิตแต่ละดวงจะเกิดขึ้น ต้องมีปัจจัยจากจิตดวงก่อนๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สะสม สะสมในรูปของปกตูปนิสสยปัจจัย คือ การสะสมโดยความเป็นปัจจัย จิตเกิดแล้วดับ แต่เมื่อดับแล้ว มีการสะสมพืชเชื้อ