ลักขณาทิจตุกะของเวทนาเจตสิก
สัมโมหวิโนทนีย์ ซึ่งเป็น อรรถกถาพระวิภังคปกรณ์ ปฏิจจสมุปปาทวิภังค์ มีข้อความเรื่องลักษณะของเวทนาว่า
อนุภวนลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ
วิสยรสสมฺโภครสา มีการบริโภคร่วมกันซึ่งรสแห่งอารมณ์เป็นรสะ หรือเป็นกิจ
สุขทุกฺขปจฺจุปฏฺฐานา มีสุข และทุกข์เป็นปัจจุปัฏฐาน หรือเป็นอาการที่ปรากฏ
ผสฺสปทฏฺฐานา มีผัสสะเป็นปทัฏฐาน หรือเป็นเหตุใกล้ให้เกิด
ไม่ว่าจะมีจิตเกิดขึ้นขณะใด ขณะที่จิตเห็น ที่จะมีความรู้สึกเฉยๆ หรือว่ามีความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ ความรู้สึกนั้นไม่ใช่จิต เพราะว่าจิตไม่ใช่เป็นใหญ่เป็นประธานในการเสวยซึ่งลักษณะของอารมณ์ ความรู้สึกนั้นไม่ใช่จิต
อารมณ์จัดเป็นประเภทคือ อารมณ์ดีเป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์ไม่ดีเป็นอนิฏฐารมณ์ แต่ว่าสภาพของนามธรรมที่เป็นผู้เสวยลักษณะที่ดีไม่ดีของอารมณ์ที่จะทำให้เกิดความชอบความไม่ชอบ หรือว่าความสุขความทุกข์ขึ้นนั้น สภาพที่รู้สึกเป็นสุขในอารมณ์ที่กระทบ สภาพที่รู้สึกเป็นทุกข์ในอารมณ์ที่กระทบ ความรู้สึกนั้นไม่ใช่จิต แต่ว่าเป็นเวทนาเจตสิก
สภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง ที่ภาษาบาลีใช้คำว่า เวทนา แต่ว่าภาษาไทยก็หมายความถึง สภาพความรู้สึกนั่นเอง มีการบริโภคร่วมซึ่งรสแห่งอารมณ์ เป็นรสไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะกระทบโผฏฐัพพารมณ์ หรือว่าจะคิดนึกเรื่องใดๆ ก็ตาม จิตแต่สภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์เท่านั้น แต่ความรู้สึกที่เป็นสุขเพราะคิดถึงอารมณ์นั้น เป็นทุกข์เพราะคิดถึงอารมณ์นั้น เป็นสุขที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรสสิ่งต่างๆ สภาพความรู้สึกนั้นเป็นลักษณะของเวทนา เวทนาเป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ ในการที่จะเสวยอารมณ์ หรือว่ามีการบริโภคร่วมซึ่งรสแห่งอารมณ์ ผู้ที่รู้รสจริงๆ ของอารมณ์ที่ได้กระทบนั้นเป็นสุขเป็นทุกข์ไม่ใช่จิต แต่เป็นเวทนาเจตสิก
สำหรับอาการที่ปรากฏให้รู้ได้ว่าเป็นเวทนา คือ สุขทุกฺขปจฺจุปฏฺฐานา มีสุข และทุกข์เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏให้รู้ได้
วันหนึ่งที่เป็นสุขเป็นทุกข์นั้นนะคะ ก็ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตนแต่เป็นอาการที่ปรากฏของเวทนาที่จะให้รู้ได้แล้วก็สภาพของเวทนาก็เป็นสังขารธรรมอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเวทนานั้นก็คือ ผัสสะ (การกระทบอารมณ์) เป็นปทัฏฐาน (เป็นเหตุใกล้) ให้เกิดเวทนา