ผัสสมูลกสูตร


    ในพระไตรปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ผัสสมูลกสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม้สองอันเสียดสีกัน เพราะการเสียดสีกันจึงเกิดไออุ่น จึงเกิดไฟ เพราะแยกไม้สองอันนั้นแหละออกจากกัน ไออุ่นที่เกิดเพราะการเสียดสีนั้นย่อมดับไป สงบไป ฉันใด

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ นี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เกิดแต่ผัสสะ มีผัสสะเป็นมูล มีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาอันเกิดแต่ผัสสะ เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะที่เกิดจากปัจจัยนั้นย่อมดับ เพราะผัสสะที่เกิดแต่ปัจจัยนั้นดับไป

    แม้ผัสสะก็ต้องเกิดเพราะปัจจัย ถ้ายังมีปัจจัยให้ผัสสะเกิด ผัสสะก็ต้องเกิด เมื่อผัสสะกระทบรูปทางตา กระทบเสียงทางหู กระทบอารมณ์ทางใจดับไปแล้วก็จริง แต่ยังมีปัจจัยให้ผัสสะเดี๋ยวนี้กระทบทางตาอีก ทางหูอีก จมูกอีก ลิ้นอีก กายอีก ใจอีก วนเวียนเรื่อยไปในวัฏฏะ และเมื่อมีผัสสะการกระทบเป็นปัจจัยแล้ว ย่อมมีเวทนา

    แต่สำหรับการปฏิบัติ ท่านผู้เจริญสติจะรู้ได้อย่างไรว่ามีอุเบกขาเวทนา อุเบกขาเวทนามีหลายประเภท ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นกุศลก็มี ถ้าไม่พูดถึงวิบากจิต และกิริยาจิต ผู้ที่เจริญสติรู้ความต่างกันของขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติ เป็นเหตุที่ทำให้ท่านรู้ว่า วันหนึ่งๆ ในเบื้องแรกนั้นสติเกิดน้อยมาก กำลังตื่นเต้น มีธุระเกี่ยวข้องกับผู้นั้นผู้นี้ที่จะต้องรีบด่วน ที่จะกระทำ หรือกำลังดีใจ สติหายไปแล้ว ทุกท่านก็รู้ได้ว่าขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ ประการแรกที่สุดที่สำคัญสำหรับผู้เจริญสติปัฏฐานคือ ผู้ที่รู้ขณะที่มีสติ กับขณะที่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้นเมื่อทราบว่าเมื่อสักครู่นี้หลงลืมสติเป็นลักษณะของจิตประเภทหนึ่ง แต่ถ้าท่านจะระลึกถึงสภาพของเวทนา ท่านรู้เลยขณะเมื่อสักครู่นี้ที่หลงลืมสติ เวทนาเป็นอุเบกขา ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ รู้สึกเฉยๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้นท่านสามารถที่จะระลึกรู้สภาพของนามธรรมที่เป็นลักษณะที่หลงลืมสติเป็นโมหมูลจิต อุทธัจจสัมมปยุต์ ถ้าทันจะไม่ระลึกถึงลักษณะของจิต ท่านจะระลึกถึงเวทนาในขณะนั้นว่าเมื่อสักครู่นี้ที่หลงลืมสตินั้นเวทนาเป็นอย่างไร ก็ทราบได้ทันทีว่า ในขณะนั้นแหละเป็นความรู้สึกเฉยๆ ซึ่งเป็นลักษณะสภาพในขณะนั้น เป็นของที่มีจริง บางท่านบอกว่า ความรู้สึกเฉยๆ นั้นรู้สึกยาก ดีใจรู้สึกง่าย เสียใจก็รู้สึกง่าย สุขก็ง่าย ทุกข์ก็ง่าย ปรากฏชัดเจน แต่เฉยๆ อาจจะไม่มีแล้วก็เข้าใจว่าไม่มี แต่ความจริงมีแล้วก็สามารถที่จะสำเหนียกแล้วก็รู้ลักษณะสภาพของความรู้สึกเฉยๆ ได้ นั่นเป็นความรู้สึกเฉยๆ ในอกุศลจิต แต่ว่าความรู้สึกเฉยๆ ที่เป็นกุศลก็มี เวลาที่มีการให้ทาน รักษาศีล แต่ขณะนั้นไม่ถึงกับปีติโสมนัส ความรู้สึกนั้นก็เป็นแต่เพียงความรู้สึกเฉยๆ ถ้าท่านเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกเนืองๆ บ่อยๆ ก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของความรู้สึกทั้งสุขเวทนา ทุกขเวทนา แล้วก็อุเบกขาเวทนาได้


    หมายเลข 6109
    31 ก.ค. 2567