ทำไมต้องมีสติจึงจะรู้ว่ามีสุขหรือมีทุกข์


    ผู้ฟัง ตามปกติทุกข์ก็ดี สุขก็ดี แม้ผู้ที่ไม่มีสติก็สามารถที่จะรู้สึกถึงความสุข และความทุกข์นั้นได้ ทำไมจึงจำกัดว่า ต้องมีสติจึงจะรู้ได้ว่ามีสุข หรือมีทุกข์

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ไม่ได้เจริญสติ สุขก็มี ทุกข์ก็มี แต่เป็นตัวตนที่เป็นสุข เป็นตัวตนที่เป็นทุกข์ หรือความรู้สึกเฉยๆ พอถามก็บอกได้ว่าเฉยๆ ความรู้สึกเป็นอทุกขมสุขนั้นเป็นอุเบกขาเวทนา แต่ขณะใดที่ไม่เจริญสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรม ขณะนั้นเป็นตัวตนทั้งหมด เป็นเราสุข เป็นเราทุกข์ เป็นเราเฉยๆ เพราะฉะนั้นจึงได้กล่าวว่า ถึงแม้ว่าความสุขมีจริง ความทุกข์มีจริง ความรู้สึกเฉยๆ มีจริง แล้วก็เกิดขึ้นแล้วก็หมดไปให้รู้ในสภาพความไม่เที่ยงใช่ไหม ไม่มีสุขที่สุขตลอดเวลา ไม่มีทุกข์ที่เป็นทุกข์ตลอดเวลา หรือว่าไม่มีดีใจตลอดเวลา ไม่มีเสียใจตลอดเวลา ไม่มีความรู้สึกที่เฉยๆ เท่านั้นตลอดเวลา แม้สภาพธรรมมีปรากฏแต่ว่าลักษณะนั้นยากที่จะรู้ ลักษณะนี้หมายความถึง ลักษณะที่เป็นนามธรรม หรือลักษณะที่เป็นรูปธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นของยากที่จะรู้จึงกล่าวว่าลึกซึ้ง การที่จะรู้ว่าเป็นสุขเวทนาก็ลึกซึ้ง เพราะอะไร เพราะเคยเป็นเราสุข ไม่ได้รู้เลยว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เวลาที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ที่จะรู้ว่าเป็นทุกขเวทนานั้นลึกซึ้ง เพราะอะไร เพราะเคยยึดถือว่าเป็นเราทุกข์ อุเบกขาเวทนาความรู้สึกเฉยๆ ก็เหมือนกัน ที่จะให้เห็นว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น และก็ดับไปเป็นนามธรรม เป็นความรู้สึกเฉยๆ ก็ยากที่จะรู้ได้ว่าเป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นจึงลึกซึ้ง สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม เป็นของที่มีจริง เป็นปกติ เป็นประจำวัน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ยากที่จะรู้ลักษณะได้ จึงกล่าวว่าลึกซึ้ง จึงต้องเจริญสติ


    หมายเลข 6110
    31 ก.ค. 2567