ได้ยินคำว่า ปัจจัย เข้าใจว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นก็อยากจะขอถามว่าเมื่อได้ยินคำว่า " ปัจจัย " เข้าใจว่าอย่างไร
อ.คำปั่น "ปัจจัย" ก็คือ "ปัจจยะ" กล่าวว่าเป็นเครื่องปรุง หรือเครื่องประกอบสำหรับประกอบกับศัพท์นั้นๆ นี้คือปัจจัย
ท่านอาจารย์ หมายความว่าสิ่งที่อาศัยที่จะทำให้สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีสิ่งที่อาศัย สภาพธรรมนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เราเอาคำในภาษาบาลีมาใช้ง่ายๆ ที่เราจะเข้าใจได้ในภาษาไทย แต่ถ้าคิดถึงธรรม จิต เจตสิก รูป คำว่าปัจจัยก็ต้องหมายความถึงสิ่งที่จิตต้องอาศัยจึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีสิ่งนั้นแล้วจิตจะเกิดขึ้นมาไม่ได้เลย จึงต้องมีปัจจัยซึ่งเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นที่อาศัย เพราะฉะนั้นจิตอาศัยอะไรจึงเกิดขึ้นได้ หรือเกิดขึ้นได้เอง มีทางที่จิตจะเกิดขึ้นได้เองโดยไม่อาศัยอะไร ได้ หรือไม่ ไม่ได้เลย จึงเป็น "สังขารธรรม" " สังขตธรรม" เพราะฉะนั้นจิตอาศัยอะไรจึงเกิดขึ้น อาศัยเจตสิก เพราะถ้าไม่มีเจตสิกเกิด จิตจะเกิดไม่ได้เลย ทุกครั้งที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกเป็นที่อาศัย เป็นปัจจัย เป็นที่อาศัย อุปการะ สนับสนุนให้จิตเกิดขึ้น เจตสิกไม่มีจิตเกิดได้ หรือไม่ ก็ไม่ได้อีก
เพราะฉะนั้นทั้งจิต และเจตสิกอาศัยกัน และกัน ไม่เคยแยกขาดจากกันเลย แล้วต้องเกิดพร้อมกันด้วย ไม่ใช่ว่าจิตเกิดไปก่อน แล้วเจตสิกตามมาเกิดทีหลัง หรือไม่ใช่ว่าเจตสิกเกิดไปก่อน แล้วจิตตามมาเกิดทีหลัง ไม่ได้เลย ทันทีที่จิตเกิดก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงเป็น "สหชาตปัจจัย" เกิดพร้อมกัน หรือร่วมกัน หรือด้วยกันก็ได้ แยกกันไม่ได้เลย เราเคยใช้คำในภาษาไทยว่า สหชาติ แล้ว เราก็เข้าใจ คนที่เกิดสหชาติ วันเดียว ปีเดียว เดือนเดียวกัน เราก็บอกสหชาติ คือเกิดพร้อมกัน หรือขณะเดียวกันจะกี่นาทีก็แล้วแต่ แต่ความหมายก็คือเกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้น จิต และเจตสิกปราศจากกันไม่ได้ ต้องเกิดพร้อมกัน จิตจึงเป็นสหชาตปัจจัยของเจตสิกเพราะว่าต้องเกิดพร้อมกับเจตสิก แล้วเจตสิกก็ต้องเป็นสหชาตปัจจัยของจิต คือเราจะเรียนพื้นฐานก่อนเท่าที่เราจะสามารถเข้าใจในเบื้องต้น เพื่อเกื้อกูลต่อการที่เราจะได้เข้าใจถึงความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อาศัยกันเกิด หรือไม่ จะมีแต่ธาตุดินเกิดโดยไม่มีธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุลมได้ หรือไม่ หรือจะมีแต่ธาตุไฟ ไม่มีธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ได้ หรือไม่ ก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุดิน ก็ต้องอาศัย ๓ ธาตุเป็นสหชาตปัจจัยของธาตุดิน ถ้ากล่าวถึงธาตุน้ำ อีก ๓ ธาตุ ก็ต้องเป็นสหชาตปัจจัยของธาตุน้ำ ถ้ากล่าวถึงธาตุไฟ อีก ๓ ธาตุก็ต้องเป็นสหชาตปัจจัยของธาตุไฟ ถ้ากล่าวถึงธาตุลม อีก ๓ ธาตุก็ต้องเป็นสหชาตปัจจัยของธาตุลม เพราะฉะนั้นก็คือว่า ไม่ว่าจะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ไม่ได้กล่าวเจาะจงเรื่องอะไร กล่าวเฉพาะการเกิดพร้อมกัน ถ้าจิตของบุคคลนี้ หรือเจตสิกของบุคคลนี้กับจิตของบุคคลอื่น หรือเจตสิกของบุคคลอื่นเป็นสหชาตปัจจัย หรือไม่ ไม่เป็น ต้องในจิต ๑ ขณะนั้นเอง
ขณะที่เกิดมีอะไรเป็นปัจจัยโดยต้องเกิดพร้อมกัน หรือว่าลักษณะที่แข็ง ลักษณะที่ร้อน ลักษณะที่เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมเกิด ก็จะต้องในขณะของรูปนั้นที่เกิดด้วยกัน ไม่ใช่ว่าแยกกันเกิดจึงจะเป็นสหชาตปัจจัย
ที่มา ...