เป็นผลของกรรมเดียวกันก็ได้ หรือเป็นผลของกรรมอื่นก็ได้


    ผู้ฟัง กรรมหนึ่งที่เกิดทำภวังค์ กรรมหนึ่งที่ทำกิจทางปัญจทวาร คือ ทวิปัญจวิญญาณ กรรมนี้เป็นกรรมเดียวกัน หรือ ต่างกรรมกัน ก็ได้

    ท่านอาจารย์ ต้องใช้คำว่า "ผลของกรรม" ไม่ใช่เป็นตัวกรรม

    ผู้ฟัง เป็นผลของกรรม ที่เป็นกรรมเดียวก็ได้ หรือคนละกรรมก็ได้ ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง กรรมหนึ่งทำให้ฏิสนธิจิตเกิด และเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้วกรรมเดียวกันนั้น ก็ทำให้จิตประเภทเดียวกันนั้นเกิดสืบต่อ แต่เมื่อไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ คือไม่ใช่กิจที่เกิดสืบต่อจากจิตของชาติก่อนจึงทำภวังคกิจ ภวังคกิจคือกิจที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นไว้ไม่ให้สิ้นสุดไป ไม่สามารถเปลี่ยนความเป็นบุคคลนั้นไม่ได้เลย จนกว่าจิตขณะสุดท้ายคือ จุติจิตเกิดแล้วดับไปเมื่อไหร่ กรรมหนึ่งก็จะทำให้ปฏิสนธิของชาติหน้าเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกรรมอะไร แต่สำหรับในชาตินี้เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตจะเกิดสืบต่อ จนกว่าจะมีวิถีจิตเกิดขึ้น เมื่อวิถีจิตเกิดขึ้นเมื่อนั้นจึงไม่ใช่ภวังคจิต เพราะฉะนั้นเวลาที่กำลังเป็นภวังค์อยู่ก็เป็นผลของกรรมที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้โดยทำภวังคกิจก่อน แล้วก็จะมีการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นผลของกรรมภายหลังไม่ใช่พร้อมกัน เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นเพื่อรับผลของกรรม คือ มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และผลของกรรมที่ได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะเป็นผลของกรรมเดียวกับที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด หรือเป็นผลของกรรมอื่นก็ได้ เพราะเหตุว่าถ้าเราเกิดมาด้วยผลของกรรมที่จะทำให้เราพรั่งพร้อมด้วยสมบัติ ก็จะมีการเห็น การได้ยิน หรือรับรู้สิ่งที่ดี ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นผลมาเนื่องจากกรรมซึ่งได้กระทำแล้วซึ่งไม่ใช่แต่เพียงทำให้เกิด และเป็นภวังค์ กรรมนั้นยังให้ผลมากน้อยตามสมควร

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าชีวิตในโลกนี้ สัตว์โลกทั้งหลายเป็นที่ดูผลของบุญ และบาป และเป็นที่ดูบุญ และบาปต่อไปด้วย เป็นที่ดูผลของบุญ และบาป ก็เห็นอยู่ว่า คนเราเกิดมาต่างกัน เป็นคนด้วยกัน เป็นมนุษย์ที่เกิด ที่อยู่ ที่อาศัย ก็ต่างกัน แล้วแต่ละขณะที่มีการเห็น การได้ยิน ก็ต่างกันไปอีก แล้วแต่กรรม ถ้าเป็นผลของกรรมที่ประณีตทำให้เกิดมาเป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมทุกประการ เวลาที่เป็นภวังค์แล้วก็ยังมีการที่จะได้รับผลของกรรมทางตาให้ได้ตื่นขึ้น เห็นสิ่งที่ดี ให้ได้ยินสิ่งที่ดี ให้ได้กลิ่นที่ดี ให้ลิ้มรสที่ดี ให้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายที่ดี ขณะนั้นก็เป็นผลของกรรมที่ประณีตที่สมบูรณ์พร้อมที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตประเภทนั้นเกิดโสมนัสสหคตัง โสมนัสสสหคตัง (โส-มะ-นัส-สะ-สะ-ห-คะ-ตัง) แล้วก็เป็นญานสัมปยุตตัง อสังขาริกัง หมายความว่าเวทนาความรู้สึกที่เกิดด้วยก็เป็นโสมนัสในอารมณ์ เพราะฉะนั้น จะเป็นความสุขในอารมณ์ที่ได้รับ ความเพลิดเพลิน ความยินดี และถ้าเป็นผลของกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นพื้นของจิต ที่ทำให้มีการเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม มีการศึกษา มีการฟัง มีการเจริญขึ้นในกุศลธรรม และก็เป็นขณะที่ประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้าเป็นผลของกุศลที่ประณีตแต่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา เราก็จะเห็นได้ว่ามีหลายท่านที่เป็นผู้ที่สมบูรณ์พูนสุขทุกประการทั้งลาภ ทั้งยศ ทั้งชื่อเสียง แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีศรัทธา ไม่มีความสนใจ ไม่มีการที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ทำให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อ และก็ยังทำให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ตามควรแก่กรรมนั้นๆ ด้วย

    เพราะฉะนั้น แต่ละชีวิตจึงต่างกันไปตามกรรม ใครจะได้มากได้น้อยที่เป็นผลของกุศลกรรม หรือได้มากได้น้อยที่เป็นผลของอกุศลกรรม ก็เป็นสิ่งที่ได้กระทำมาแล้วทั้งนั้น แต่เราไม่สามารถจะบอกได้ว่า ขณะนี้ที่กำลังได้รับสิ่งนี้เป็นผลของกรรมใด เพราะเหตุว่าในบางวันเราก็อาจจะได้รับสิ่งที่ประณีตมาก ไม่ใช่ชีวิตประจำวัน แต่พิเศษต่างจากชีวิตประจำวัน ขณะนั้นก็ต้องเป็นผลของกรรมที่สามารถจะให้ผลหลังจากปฏิสนธิ หรือว่าเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ก็เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อม แต่ถึงกาลที่อกุศลกรรมจะให้ผลก็มีการเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่ว่าเป็นกาลที่สุกงอมของกรรมใดที่จะทำให้วิบากจิตเกิดก็เป็นปัจจัยทำให้วิถีจิตเกิด แล้วแต่ว่าจะป็นทางตา หรือหู หรือลิ้น หรือจมูก หรือกาย เพราะว่ากรรมทำให้เกิดจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท เพื่อให้จิตเกิดขึ้นโดยอาศัยปสาทรูปเป็นทวารที่จะเป็นผลของกรรมที่จะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดี น่าพอใจ หรือที่ไม่น่าพอใจ

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 36


    หมายเลข 6153
    18 ม.ค. 2567