ทบทวนประเภทและกิจหน้าที่ของจิต
แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ถ้าเราจะทบทวนถึงขณะที่จิตไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์เลยมีไหม ตอบว่ามี แล้วใช้คำว่าอะไรขณะนั้น จิตเกิดแล้ว แล้วก็ทำหน้าที่ด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงจิตก็จะพูดถึงหน้าที่ของจิตนั้นๆ ให้ทราบว่าเป็นจิตต่างชนิด จิตชนิดนี้ทำหน้าที่นี้ จะให้จิตชนิดอื่นมาทำหน้าที่นี้ไม่ได้ เพราะว่าเป็นหน้าที่ของจิตนี้ เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะนั้นมีจิตเกิดดับสืบต่อ และทำภวังคกิจไปเรื่อยๆ แต่ว่าตลอดกาลไม่ได้ เพราะว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วก็จะเป็นปัจจัยทำให้สุกงอมพร้อมที่จะให้จิตประเภทใดเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม จิตที่เป็นผลของกรรม ภาษาบาลีใช้คำว่า “วิปาก” (วิ-ปา-กะ) ภาษาไทยก็เรียกว่าวิบาก " วิบากจิต" เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว
เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นเหตุมี ผลก็คือจิต ไม่ใช่อย่างอื่นเลย เกิดขึ้นเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะว่ากรรมสามารถจะกระทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทั้งนามธรรม และรูปธรรมด้วย เพราะฉะนั้นถ้าถึงกาลที่จะต้องเห็น ก็จะเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้ หรือว่าขณะที่ต้องได้ยิน ก็เป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้ ขณะที่ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือแม้คิดนึกตามการสั่งสม เพราะเหตุว่า บางคนนอนหลับไป แต่เมื่อตื่นขึ้น ก็นึกถึงเรื่องที่คิดค้างไว้ หรือธุรกิจ กิจการงานต่างๆ แม้แต่ความคิดก็ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมยิ่งละเอียดก็ยิ่งเข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมว่า อาจจะมีคนที่อยากหลับนานๆ แต่ก็ต้องตื่นเมื่อถึงกาลที่จะต้องได้รับผลของกรรม หรือถึงกาลที่จะต้องตรึกคิดนึกถึงเรื่องที่สะสมไว้ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าภวังคจิตทำกิจอื่นไม่ได้เลยนอกจากเกิดขึ้น ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก แต่ดำรงภพชาติ และทันทีที่จะเปลี่ยนจากการเป็นภวังค์ สู่การรู้อารมณ์อื่น ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เช่น เราตื่นขึ้นมา ดูธรรมดา แต่สภาพจิตเปลี่ยนแล้ว จากภวังค์ต้องมีอารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์
ที่มา ...