โลกอะไรก็ไม่ปรากฏเมื่อเป็นภวังคจิต


    เพราะฉะนั้นกำลังหลับอยู่แต่ละคนจะไม่เหมือนกันเลย

    การที่จะเริ่มรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดที่ไม่ใช่ภวังค์ จิตจะไม่ทำกิจภวังค์ แต่จะทำกิจอื่น ถ้าเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ต้องเป็นผลของกรรมที่สุกงอมที่พร้อมจะเกิดเป็นจิตประเภทอื่น ไม่ใช่ภวังคจิต ภวังค์ก็เป็นผลของกรรมแต่ทำภวังคกิจ การรับผลของกรรมโดยทำกิจภวังค์ก็สบายใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นเทวดา ภวังคจิตก็คือไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปพรหม ภวังคจิตก็ไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น หรือแม้อรูปพรหมที่เป็นภวังค์ ก็ไม่มีการรู้อารมณ์อื่น เหมือนกันหมดทุกชีวิตในขณะที่จิตทำภวังคกิจ คือ โลกใดๆ ก็ไม่ปรากฏ ชื่ออะไรก็ไม่รู้ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เมื่อคืนนี้ทำอะไรก่อนที่จะหลับก็ไม่รู้ ก็เป็นเรื่องของจิตแต่ละขณะที่ทำกิจ แต่ถ้าทำกิจภวังค์ก็คือให้ทราบได้ว่า เป็นภวังค์โดยที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด เป็นทวารวิมุติด้วย เพราะเหตุว่าเวลาที่เราจะรู้อารมณ์อื่นที่ใช่อารมณ์ของภวังค์ต้องอาศัยทวารคือทาง และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรมกับรูปธรรมอาศัยกัน และกัน เช่น เรื่องหิว ก็เกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ส่วนอรูปพรหมไม่หิวแน่ หรือพวกที่มีรูปละเอียด ก็จะต่างกันไปตามลำดับขั้นด้วย

    ยกตัวอย่างทางตา กำลังเป็นภวังค์อยู่จะให้สิ้นสุดกระแสภวังค์ทันทีไม่ได้เลย แต่จะสิ้นสุดต่อเมื่อมีรูปกระทบกับจักขุปสาท ถ้ารูปที่กำลังกระทบกับจักขุปสาทยังไม่ปรากฏ เพียงแต่รูปเกิด และจักขุปสาทเกิด และรูปนั้นกระทบกับจักขุปสาท เพียงกระทบ และขณะที่เป็นภวังค์ เราไม่เห็นเลย เพราะจิตกำลังเป็นภวังค์ แต่รูปเกิดแล้ว และกระทบกับจักขุปสาทแล้ว โดยที่รูปก็ต้องเกิด และจักขุปสาทก็ต้องเกิดด้วย แต่กระทบกันโดยขณะนั้นจิตจะเห็นไม่ได้ เพราะเหตุว่า กำลังเป็นภวังค์ จิตขณะหนึ่งต้องมีอารมณ์เดียว จะมีสองอารมณ์ไม่ได้ เพราะจิตเป็นสภาพรู้ และมีเจตสิกที่ทำให้จิตตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งไม่ใช่สองอารมณ์ เพราะฉะนั้น ขณะที่อารมณ์กระทบกับจักขุปสาท ยังไม่เห็น แต่แสดงให้รู้ว่าเมื่ออารมณ์กระทบกับปสาทแล้ว การกระทบกันของอารมณ์ และปสาทก็จะมีส่วนที่ทำให้ภวังค์ไหว เพื่อที่จะรู้อารมณ์ใหม่ เมื่อกล่าวถึงภวังค์ไหว คำว่าไหวนี้ไม่ต้องคิดถึงเรื่องรูปเลย เพราะเมื่อใช้คำว่าไหวโดยปกติเราจะคิดถึงรูป เช่น เป็นใบไม้ไหว หรือการเคลื่อนไหว แต่ลักษณะของนามธรรมให้ทราบว่า เป็นการแสดงให้รู้ว่าใกล้จะสิ้นสุดการเป็นภวังค์ แต่ยังสิ้นสุดทันทีไม่ได้

    ผู้ฟัง อตีตภวังค์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีจักขุปสาทกับรูปมากระทบกันก่อน แต่ยังไม่รู้อะไรเลย แล้วก็มีอตีตภวังค์เกิดขึ้นใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ภวังค์เกิดดับสืบต่อมาเรื่อยๆ เมื่อมีการกระทบกันของอารมณ์กับทวาร รูปที่เป็นสภาวรูปจะมีอายุเท่ากับจิต ๑๗ ขณะ จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงดับ เพื่อแสดงให้ทราบว่ารูปจะดับเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นทั้งปสาทรูป และอารมณ์ที่มากระทบเริ่มที่อตีตภวังค์ เกิดตรงนั้น รูปยังไม่ดับ แต่อตีตภวังค์ดับแล้ว และถ้าจะมีการรู้อารมณ์เพราะว่าถึงกาลที่กรรมจะให้ผล ทำให้ต้องรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง เพราะว่าการรับผลของกรรมไม่ใช่ว่าเกิดมาเป็นภวังค์ แต่เพราะกรรมนั่นเองที่ทำให้มีจักขุปสาทรูป ใครก็ทำให้จักขุปาทรูปเกิดไม่ได้เลยนอกจากกรรม จักขุปสาทรูปเป็นรูปที่มองไม่เห็น แต่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฎทางตาอย่างเดียว ในขณะที่กระทบรูปอื่นไม่ได้เลย ถ้าเป็นเสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ต้องมีรูปพิเศษที่เป็นโสตปสาทรูป ใช้คำว่า ปสาท (ปะ-สา-ทะ) เป็นรูปที่ต่างจากมหาภูตรูป ต่างจาก ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ต่างที่ว่า โสตปสาทรูปเป็นรูปเมื่อเกิดแล้วสามารถกระทบเฉพาะเสียง ก็แสดงให้เห็นว่ากรรมทำให้รูปเหล่านี้เกิดโดยที่ใครก็มองไม่เห็นรูปเหล่านี้เลย ถ้าจะเห็นก็เห็นแต่เพียงสีสันวรรณะ แต่ไม่ใช่ตัวจักขุปสาทรูป ไม่ใช่ตัวโสตปสาทรูป ไม่ใช่ตัวฆานปสาทรูป ไม่ใช่ชิวหาปสาทรูป ไม่ใช่กายปสาทรูป หากขณะนี้ กล่าวถึงทางตา รูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้กระทบปสาทแต่ยังไม่เห็น ยังไม่มีลักษณะอย่างที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้นเมื่ออตีตภวังค์ดับไปแล้ว ขณะต่อไปเป็น "ภวังคจลนะ" “จลนะ” แปลว่า ไหว แต่ไม่ใช่ลักษณะที่ไหวไปมาของรูป เป็นแต่เพียงจิตที่ใกล้จะสิ้นสุดกระแสภวังค์ เพราะว่าจะสิ้นสุดลงไปทันทีไม่ได้ เมื่ออตีตภวังค์ดับไป จิตขณะต่อไปก็เป็นภวังคจลนะ

    ผู้ฟัง ตอนนี้ เห็น หรือยัง

    ท่านอาจารย์ ยังไม่เห็น ตราบใดที่ยังเป็นภวังค์ ขณะนั้นต้องไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเลย เพราะดำรงภพชาติอยู่ แต่เหตุที่ "ภวังค์" มีชื่อต่างกันก็เพื่อแสดงให้รู้ว่าอารมณ์เริ่มกระทบกับปสาท ใช้คำว่า "อตีตภวังค์" ถ้าอารมณ์ไม่กระทบกับปสาทใช้คำว่า "ภวังคจลนะ" เพราะไม่ใช่ขณะที่รูปที่กระทบกับปสาท แต่ว่ามีการที่จะสิ้นสุดกระแสภวังค์ เพราะการสะสมของกุศลจิต อกุศลจิต เรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตามแต่ จะทำให้จิตคิดด้วยจิตประเภทนั้นๆ แต่จะขอกล่าวถึงทางปัญจทวารก่อน เพราะขณะนี้ก็คือทางจักขุทวาร ใช้คำว่าจักขุทวารเพราะเหตุว่าอาศัยจักขุปสาทรูปเป็นทางที่จิตจะเกิดสืบต่อรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับ อารมณ์เดียวที่ยังไม่ดับทางทวารนั้นต้องอาศัยทวารนั้นตลอด จิตทุกขณะที่เกิดจะต้องอาศัยทวาร คือทางที่จะรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับ เมื่อภวังคจลนะดับแล้ว ขณะต่อไปเป็น "ภวังคุปัจเฉทะ" หมายความถึงสิ้นสุดกระแสภวังค์

    อ.คำปั่น "ภวังคุปัจเฉทะ" แยกมาจากคำว่า ภวังค + อุปัจเฉทะ ก็คือการเข้าไปตัดภวังค์

    ท่านอาจารย์ แต่ที่จริงแล้วก็ไม่มีใครไปตัดเลย แต่หมายถึงภวังค์ขณะสุดท้ายของกระแสภวังค์ ใช้คำว่า “ตัด” ก็คือสิ้นสุดกระแสภวังค์ เป็น ภวังคุปัจเฉทะ คำว่า อุปัจเฉทะ กับ ภวังค์ และก็รวมกันเป็น "ภวังคุปัจเฉทะ" เป็นกระแสภวังค์ที่สิ้นสุดที่จิตดวงนี้ จะเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้เลย ถึงขณะนี้ก็ยังไม่เห็น แต่สามารถใช้คำว่า "เริ่มจะเห็น" ก็ได้ เพราะตราบใดที่ยังเป็นภวังค์ ไม่ว่าจะชื่อปฐมภวังค์ อตีตภวังค์ อาคันตุกะภวังค์ หรือภวังค์อะไรก็ตาม (ซึ่งต่อไปข้างหน้าก็จะมีชื่อเฉพาะภวังค์นั้นๆ) ถ้ายังมีคำว่าภวังค์ แปลว่ายังไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะยังมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิซึ่งเป็นอารมณ์ที่ใกล้จะจุติของชาติก่อน

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 37


    หมายเลข 6159
    18 ม.ค. 2567