การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเพราะไม่แยกแต่ละรูป - นาม
ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง ท่านผู้ฟังอย่าลืมว่าการที่เรายึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าสภาพธรรมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ยังไม่กระจัดกระจาย ยังไม่แยก ยังไม่แตกออกเป็นส่วนๆ แตกออกเป็นแต่ละรูปแต่ละนาม ในเมื่อยังรวมกันอยู่ก็ย่อมยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งของ เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐานเป็นการรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมแต่ละทาง ในลักษณะของรูปแต่ละรูป ซึ่งมีลักษณะต่างกันเป็นแต่ละลักษณะ อย่ารวมกัน ถ้ารวมกันไม่กระจัดกระจายแล้วล่ะก็ไม่มีโอกาสที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้เลย และท่านที่เคยรวมๆ กันแล้วก็รู้ เป็นต้นว่ารูปที่กำลังนั่งอยู่ ไม่ได้กระจัดกระจาย ไม่ได้ให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามแต่ละลักษณะ รูปแต่ละลักษณะ รวมๆ กันเป็นการนั่ง เป็นอิริยาบท เป็นท่านั่ง เป็นท่านอน เป็นท่ายืน เป็นท่าเดิน หมายความว่าแล้วแต่ว่าจะเป็นรูปที่ปรากฏทางตาก็อย่างหนึ่ง รูปที่ปรากฏทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูกก็อย่างหนึ่ง ทางลิ้นก็อย่างหนึ่ง ทางกายก็อย่างหนึ่ง
การที่จะไปนึกแค่เห็น ก็เป็นอัตตาตัวตนที่นึก แต่ว่าการที่จะรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งจริงๆ จะต้องระลึกรู้ในขณะที่เห็นว่าเป็นสภาพรู้ ต่างกับสีสันวรรณะที่เป็นสภาพที่ปรากฏทางตา เห็นเป็นสัตว์เป็นบุคคลก็อย่างที่เคยเห็นทุกวันๆ ยังไม่ได้ระลึกรู้ว่า ทุกอย่างที่ปรากฏทางตาก็เป็นของจริงที่ปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้น แต่ส่วนการที่จะรู้ความหมายของสิ่งที่เห็นเป็นสภาพนามธรรมที่เกิดภายหลังการเห็น เป็นนามธรรมคนละชนิดไม่ใช่เป็นนามธรรมที่เห็น เป็นลักษณะของนามธรรมที่ต่างกัน ผู้เจริญสติปัฏฐาน ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดมาก ที่สามารถจะรู้ลักษณะของนามธรรมที่เกิดจากสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว โดยการที่พิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละลักษณะเสียก่อน จึงจะรู้ว่าไม่ใช่นามธรรมประเภทเดียวกัน แล้วถึงจะประจักษ์การที่สืบต่อกันของนามธรรมแต่ละชนิดได้ แต่ถ้าไม่ปรากฏลักษณะที่ต่างกัน ก็ไม่ปรากฏการที่จะเกิดดับสืบต่อกันได้ เห็นก็เพียงแค่ที่ว่ากำลังรู้ทางตา ส่วนที่รู้ว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นนามธรรมที่เกิดต่อจากการเห็น เกิดต่อกันเร็วมากแต่ว่าสติก็ระลึกได้ ทีละลักษณะของนาม ทีละลักษณะของรูป กำลังได้ยิน ระลึกรู้ว่าที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นสภาพรู้ก็ได้ ถ้าระลึกว่าเป็นสภาพรู้ก็เป็นลักษณะของนามธรรม แต่บางครั้งก็ไม่ได้ระลึกที่สภาพรู้ใช่ไหม ขณะที่เสียงปรากฏก็รู้ว่าสิ่งนี้เป็นของจริงที่ปรากฏทางหู โดยที่อาจจะคิดขึ้นมาก่อนตอนต้นๆ แต่ภายหลังมีความชำนาญ สำเหนียก สังเกตมากขึ้น ก็รู้ว่าถึงไม่คิด ลักษณะนี้ก็เป็นลักษณะที่ปรากฏทางหูอยู่แล้ว แล้วก็ส่วนการที่จะรู้ความหมายว่าหมายความว่าอะไร เสียงที่พูดเป็นเสียงอะไร มีความหมายว่าอะไร สภาพรู้นั้นเป็นนามธรรมไม่ใช่เสียงเสียแล้ว ติดกันมาก แต่ว่าสติสามารถที่จะแทรกไปตามอารมณ์ทั้งปวงได้ เริ่มจากทีละเล็กทีละน้อย ดูลักษณะใดก็รู้ให้ชัด ไม่ใช่ให้รวมกันอยู่ เกาะกลุ่มให้ติดกันอยู่