พิจารณากายภายนอก เป็นสติปัฏฐานได้อย่างไร


    ในคราวก่อน มีท่านผู้ฟังที่สงสัยถามว่า การพิจารณากายภายนอกจะเป็นสติปัฏฐานได้อย่างไร ในมหาสติปัฏฐาน ในหมวดของกายก็มีการพิจารณากายภายใน กายภายนอก พิจารณาทั้งภายในทั้งภายนอก เพื่อไม่ให้เป็นผู้หลงลืมสติ กำกับไว้ว่าพิจารณาทั้งภายในคือที่ตนเองด้วย และก็ที่ภายนอกคือที่บุคคลอื่นด้วย เพราะว่าสติไม่ใช่ระลึกเป็นไปที่กายภายในคือที่ตนเองเท่านั้น ในวันหนึ่งๆ ชีวิตปกติธรรมดา มีการระลึกเป็นไปในกายภายนอกของบุคคลอื่นด้วย เพราะฉะนั้นผู้เจริญสติไม่ควรเป็นผู้หลงลืมสติ แม้ในขณะที่มีกายภายนอกเป็นอารมณ์ ก็ให้เป็นเครื่องระลึกสำหรับที่จะรู้ชัดว่าสภาพนั้นเป็นนามเป็นรูปอย่างไร เพราะฉะนั้นเรื่องของการระลึกรู้ในมหาสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันแล้วก็ไม่ให้หลงลืมสติไม่ว่าขณะนั้นจะมีสิ่งใดเป็นอารมณ์ไม่ว่าจะเป็นในอานาปานบรรพ พิจารณาลมหายใจ ก็ไม่ควรจะลืมข้อความตอนท้ายของอานาปานบรรพที่ว่า

    อีกอย่างหนึ่งสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงแต่ว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    เรื่องของลมหายใจ เป็นเพียงเครื่องระลึก กายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นลมหายใจของตนเองภายใน หรือว่าลมหายใจของคนอื่นภายนอก ก็เป็นเพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เพื่อไม่ให้หลงลืมสติ แล้วก็ลมหายใจของคนอื่นธรรมดาก็มี ถ้าไม่กระทบไม่ปรากฏ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปขวนขวายระลึกรู้ เพราะว่าการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่จะไปทำให้รู้ แต่หมายความว่าระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น ตามความเป็นจริง ก็เป็นเรื่องปกติแม้แต่ในอิริยาปถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ นวสีวสิกาบรรพ ทุกนัยของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ได้กล่าวถึงแล้วทั้งหมดนั้น ก็มีข้อความตอนท้ายทุกบรรพว่า

    สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้เพียงแต่ว่าอาศัยระลึกเท่านั้นเธอเป็นผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    อีกอย่างหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    ก็ไม่น่าจะมีข้อสงสัยว่า กายภายนอกของคนอื่นนั้นจะเป็นสติปัฏฐานได้อย่างไร ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า สิ่งที่มีจริงทั้งหมดทุกอย่างเป็นสติปัฏฐาน เพื่อไม่ให้หลงลืมสติ และไม่ใช่ว่า การระลึกจะเป็นไปที่ตนเองทุกครั้ง บางขณะก็ระลึกเป็นไปในผู้อื่น ก็ไม่ควรที่จะหลงลืมสติด้วย


    หมายเลข 6196
    31 ก.ค. 2567