ทางดำเนินของสัตว์ ๓๖


    ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ โสมนัสอาศัยเรือน ๖ โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ โทมนัสอาศัยเรือน ๖ โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ อุเบกขาอาศัยเรือน ๖ อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖

    ถ้าเทียบเคียงกับในมหาสติปัฏฐาน ข้อความก็ตรงกัน ผิดกันที่พยัญชนะ ข้อความในมหาสติปัฏฐาน มีว่า

    เสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเสวยสุขเวทนามีอามิส

    ข้อความใน สฬายตนวิภังค์

    โสมนัสอาศัยเรือน โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ

    เพราะคำว่า มีอามิส หมายความว่าอาศัยกามคุณ ไม่มีอามิส หมายความว่าอาศัยเนกขัมมะ

    ใน ๓๖ ประการนั้น โสมนัสอาศัยเรือน ๖ เป็นไฉน คือ

    บุคคลเมื่อเล็งเห็นการได้เฉพาะซึ่งรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็นของอันตนได้เฉพาะ หรือหวนระลึกถึงรูปที่เคยได้เฉพาะในก่อนอันล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ย่อมเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสเช่นนี้เราเรียกว่า โสมนัสอาศัยเรือน

    ความรู้สึกที่เป็นสุขอาศัยเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้กระทบสัมผัส สิ่งที่น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นโสมนัสที่อาศัยเรือน หรือแม้การหวนระลึกถึงรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะที่เคยได้แล้วแปรปรวนไป แต่เวลาที่หวนระลึกถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ได้แล้วเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสนั้นก็ชื่อว่า โสมนัสที่อาศัยเรือน คือ อาศัยกามคุณนั่นเอง ที่เป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ


    หมายเลข 6199
    31 ก.ค. 2567