อุเบกขาอาศัยเรือน ๖
สำหรับอุเบกขาอาศัยเรือนกับไม่อาศัยเรือน มีข้อความว่า
ใน ๓๖ ประการนั้น อุเบกขาอาศัยเรือน ๖ เป็นไฉน คือ
เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ย่อมเกิดอุเบกขาขึ้นแก่ปุถุชนคนโง่เขลา ยังไม่ชนะกิเลส ยังไม่ชนะวิบาก ไม่เห็นโทษ ไม่ได้สดับ เป็นคนหนาแน่น อุเบกขาเช่นนี้นั้น ไม่ล่วงเลยรูปไปได้ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า อุเบกขาอาศัยเรือน
เพราะฟังเสียงด้วยโสตะ เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย เพราะรู้ธัมมารมณ์ด้วยมโน ย่อมเกิดอุเบกขาขึ้นแก่ปุถุชนคนโง่เขลา ยังไม่ชนะกิเลส ยังไม่ชนะวิบาก ไม่เห็นโทษ ไม่ได้สดับ เป็นคนหนาแน่น อุเบกขาเช่นนี้นั้นไม่ล่วงเลยธัมมารมณ์ไปได้ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า อุเบกขาอาศัยเรือน ๖
โดยมากท่านที่เห็นโทษของทุกขเวทนา โทมนัสเวทนา สุขเวทนาโสมนัสเวทนา ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจไม่สงบ เร่าร้อน เดี๋ยวก็สุขนิดหนึ่ง เดี๋ยวก็ทุกข์อีก เดี๋ยวก็สุขอีก เดี๋ยวก็ทุกข์อีก ก็พยายามที่จะวางใจเป็นอุเบกขาใช่ไหมเฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย อย่าสุข อย่าทุกข์ เข้าใจว่าอุเบกขาเวทนานั้นดีใช่ไหม ต้องการการใช้ไหม ไม่ให้ยินดียินร้าย แต่ถ้าไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เป็นอุเบกขาอาศัยเรือนอยู่นั่นเอง ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมตามความเป็นจริง ย่อมเกิดอุเบกขาขึ้นแก่ปุถุชนคนโง่เขลา ยังไม่ชนะกิเลส ยังไม่ชนะวิบาก ไม่เห็นโทษ ไม่ได้สดับ เป็นคนหนาแน่น การเจริญสติจึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และสำคัญมาก