สฬายตนวิภังคสูตรกล่าวโดยนัยของการเจริญวิปัสสนา


    ในสฬายตนะวิภังคสูตร กล่าวโดยนัยของการปฏิบัติ ที่เป็นการเจริญวิปัสสนา ไม่ใช่เรื่องของการเจริญสมถภาวนา ดันในข้อความในปปัญจสูทนี ว่า เคหจิตฺตานิ ได้แก่ อาศัยกามคุณ ยังเป็นผู้ที่แสวงหา ยังเป็นผู้ที่ใคร่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ซึ่งก็ได้แก่ สุขเวทนาหรือโสมนัสเวทนา เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าเวทนาจะมี ๓ แต่ทุกท่านต้องการโสมนัสเวทนาแน่ เพราะฉะนั้นก็ใคร่หรือแสวงหา อยากจะให้ทางตาเกิดโสมนัส วันหนึ่งบ่อยๆ เนืองๆ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็เหมือนกัน ผู้เจริญสติต้องทราบว่า ในขณะที่โสมนัสประเภทนั้นเกิดขึ้น ยังเป็นโสมนัสที่เป็นไปกับความยินดี ไม่ได้ละคลายความยินดีต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังจะต้องเป็นเชื้อเป็นปัจจัยให้เกิดวัฏฏะ ไม่ใช่โสมนัสที่อาศัยในเนกขัมมะ ถ้าเป็นโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะแล้ว คือในขณะที่สติระลึกรู้สภาพของนามธรรม และรูปธรรม แล้วก็มีวิปัสสนาญาณคมกล้าขึ้นเกิดจากความเกิดขึ้น และดับไปของนามธรรม และรูปธรรม แล้วความรู้สึกโสมนัสตีติก็เกิดขึ้นในการที่ได้ประจักษ์สภาพความจริงของธรรมนั้นๆ แต่จะมีโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะได้ก็จะต้องอาศัยการเจริญสติ ซึ่งโดยมากผู้หลงลืมสติในวันหนึ่งๆ เวลาโสมนัส สติเกิดไม่บ่อย ว่าสภาพความรู้สึกโสมนัสนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง โสมนัสชั่วนิดเดียว เปลี่ยนแล้ว เป็นอุเบกขา อทุกขมสุข หรือว่าเปลี่ยนแล้วเป็นโทมนัสเวทนา เป็นทุกขเวทนา เวทนาความรู้สึกในวันหนึ่งๆ เกิดดับสืบต่อ เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ แต่ว่าผู้ใดไม่ระลึกรู้สภาพธรรมในขณะที่โสมนัสเวทนาเกิดเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ย่อมไม่มีโอกาสที่จะวิปัสสนาญาณณแก่กล้าประจักษ์การเกิดดับ แล้วก็มีโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ แยกไม่เกี่ยวกับการเจริญสมถภาวนา ถ้าเจริญสมถภาวนา ไม่ได้ละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตน ก็ยังคงเป็นผู้ที่ยินดีในธรรมารมณ์อยู่นั่นเอง


    หมายเลข 6206
    31 ก.ค. 2567