ความต่างกันของอทุกขมสุขของปุถุชนกับพระอรหันต์


    ข้อความใน ปปัญจสูทนีย์ ได้แสดงความต่างกันของความรู้สึกอทุกขมสุขของปุถุชนกับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ว่าต่างกัน ท่านอาจจะคิดว่า ท่านเฉยๆ ไม่ยินดี ยินร้าย ฝึกหัดเข้าบ่อยๆ คงจะเป็นปัญญาที่สามารถละภพละชาติได้ แต่ถ้าตราบใดที่ญาณปัญญาไม่เกิดรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง อุเบกขานั้นก็ยังเป็นอัญญาณอุเบกขา

    ใน ปปัญจสูทนีย์ มีข้อความว่า

    พระขีณาสพชื่อว่า โอทิชินะ หมายถึง ผู้ข้ามห้วงกิเลส ทะเลกิเลส เพราะชำนะห้วงน้ำ คือ กิเลส ดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น ปุถุชนชื่อว่า อขีณาสวะ เพราะเหตุว่า ลักษณะของปุถุชนตรงกันข้ามกับขีณาสพ

    พระอรหันต์ท่านมีความรู้สึกไม่ยินดียินร้าย ไม่ว่าจะประสบกับอารมณ์ที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่านเป็นผู้ที่หมดกิเลสเพราะว่าประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่เหมือนกับปุถุชน ถึงแม้ว่าจะรู้สึกเฉยๆ แต่เพราะเหตุว่ายังไม่ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ยังเป็นผู้ที่ยังไม่ชนะห้วงกิเลส ในขณะที่เห็นไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงทาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในวันหนึ่งๆ สติไม่ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ผู้ที่ชนะห้วงน้ำคือกิเลสเลย เพราะยังต้องเป็นไปด้วยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อุเบกขาเวทนาบ้าง โสมนัสเวทนาบ้าง โทมนัสเวทนาบ้าง อุเบกขาเวทนาบ้าง แต่ถึงแม้ว่าอุเบกขาเวทนา ก็ไม่ใช่ประกอบด้วยญาณ เป็นไปตามอารมณ์ซึ่งไม่ถึงกับทำให้เกิดความปลาบปลื้มโสมนัสปีติ หรือว่าไม่ใช่อารมณ์ที่ทำให้ถึงกับโทมนัส เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นปุถุชนต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าท่านผู้ใดจะไม่ค่อยดีใจเท่าไหร่นัก ไม่ค่อยเสียใจเท่าไหร่นัก แต่ท่านไม่ใช่พระอรหันต์


    หมายเลข 6212
    31 ก.ค. 2567