อาศัยโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ ละโทมนัสอาศัยเรือน ๖


    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโทมนัสอาศัยเรือน ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโทมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโทมนัสนั้นๆ ได้

    โทมนัสมีเมื่อไหร่ ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้ ต้องการรูปอย่างนั้นไม่ได้ความรู้สึกเป็นอย่างไร โทมนัส ต้องการเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นๆ แล้วไม่ได้ก็โทมนัส ถ้าสังเกตจิตใจของแต่ละท่าน ความโทมนัสไม่น้อยเลย ความคับแค้นใจความขุ่นเคืองใจแต่ละคนสะสมมาไม่เหมือนกัน อย่างบางท่านก็กล่าวว่า เวลาที่ควรจะได้รับเกียรติยศ แต่ไม่ได้รับเกียรติยศที่ตนควรจะได้ ไม่มีการให้เกียรติ ก็รู้สึกโทมนัส ยิ่งมีความหวังยิ่งมีความต้องการมากเท่าไหร่ ก็เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดโทมนัสเวลาที่ไม่ได้รับสิ่งนั้นมากเท่านั้น เป็นปกติ เป็นอนัตตา เมื่อมีความปรารถนาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วไม่ได้ วันหนึ่งๆ ก็จะต้องเกิดโทมนัส ความขุ่นเคือง ความคับแค้น น้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งเราพบปะมิตรสหายเพื่อนฝูง คุยกันสนทนากันแสดงถึงความรู้สึกในจิตใจ ความรู้สึกในจิตใจเป็นเวทนาลักษณะต่างๆ ประเภทต่างๆ เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัยต่างๆ แล้วแต่การสะสมเหตุปัจจัยมาที่จะทำให้เป็นผู้ที่คับแค้นใจหรือว่าน้อยเนื้อต่ำใจเพราะเหตุ โทมนัสเวทนาที่อาศัยเรือนเป็นของที่ควรจะละไหม ทางเดินของสัตว์โลกมี ถ้าสัตว์โลกใดยังคงต้องการให้มีโทมนัสเวทนาหมุนเวียนไปในวัฏฏะ ไม่ต้องการละโทมนัสเวทนาที่อาศัยเรือน สัตว์โลกนั้นก็มีทางดำเนินอยู่อย่างหนึ่ง แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโทมนัสอาศัยเรือน ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโทมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโทมนัสนั้นๆ ได้

    ไม่ใช่ว่าโทมนัสนั้นไม่มีทางจะละ ถ้าท่านที่มีโทมนัสบ่อยๆ ในชีวิตวันหนึ่งๆ ควรหาทางเดินที่จะละโทมนัสนั้นๆ เพราะเหตุว่าโทมนัสเวทนาที่เป็นไปอาศัยเรือนนั้นก็ไม่ใช่จะเป็นสิ่งที่ดี เป็นอกุศลเวทนา แล้วก็ไม่ควรจะสะสม ไม่ควรเจริญ ไม่ควรพอกพูน ท่านผู้ใดที่มีโทมนัสเวทนาเกิดขึ้นครั้งใดขณะใด ก็ให้ทราบว่าเป็นอกุศลธรรม ถ้ายิ่งมีมาก การขัดการละก็ยิ่งเนิ่นช้า แต่ว่าวิธีละ ละด้วยโทมนัสเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะซึ่งต้องเกิดเพราะรู้การเกิดดับของนาม และรูป แต่ว่าเป็นผู้ที่ตั้งความปรารถนาเพื่ออนุตตรวิโมกข์ ในปปัญจสูทนีย์กล่าวว่า อนุตตรวิโมกข์ได้แก่อรหัตต์ ซึ่งในพระธรรมวินัย ถ้าท่านผู้ฟังจะสังเกตจะพบว่าไม่ว่าจะเป็นในหมวดใดในสูตรใด พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาถึงยอดคือหมายความถึงกล่าวถึงขั้นที่สูงที่สุดเสมอ เพราะฉะนั้นถ้าบุคคลนั้นยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ยังไม่หมดใช่ไหม แล้วถ้ามีปัจจัยที่จะให้เวทนาชนิดใดเกิด เวทนาชนิดนั้นก็เกิด อย่างพระอนาคามีบุคคล ท่านละโทมนัสเวทนาเพราะเหตุว่าท่านประหานโทสมูลจิตได้ ถ้าเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ยังมีโทมนัสเวทนา ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าท่านตั้งความปรารถนาเพื่ออนุตตรวิโมกข์คือความเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังไม่บรรลุ ท่านก็เกิดความเศร้าสร้อยน้อยใจว่า ท่านไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ในวันนี้ในเดือนนี้ในปีนี้ เพราะว่ายังมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดอยู่ ในพระสูตรนี้ไม่ใช่จำกัดเฉพาะบุคคลที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล หรือว่าเพิ่งเริ่มเจริญสติปัฏฐาน แต่ได้ทรงแสดงไว้อย่างกว้างขวางมาก เป็นไปตามขั้นของบุคคล แทนที่จะให้มีโทมนัสเวทนาเป็นความคับแค้นความเศร้าโศกความขุ่นเคืองใจที่ไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการปรารถนาทางตาหูจมูกลิ้นกายใจซึ่งเป็นอกุศล มีมากแล้วก็ไม่ดีเลย เป็นสิ่งที่ควรจะขัดให้เบาบางลดน้อยลง วิธีที่จะละก็คือว่า แม้ว่าจะยังมีเหตุปัจจัยให้เกิดโทมนัสเวทนาอยู่ ก็ให้เป็นเป็นโทมนัสเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะ อย่าได้เศร้าสร้อยน้อยใจในการที่ไม่ได้รับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐะธรรมารมณ์ที่ต้องการ เพราะเหตุว่ารูปเหล่านี้ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้หนึ่งผู้ใด ใครจะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพารมณ์ที่ดี ก็ต้องมีเหตุปัจจัยในอดีตคือสะสมบุญกุศลในอดีตมาที่จะให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส หรือโผฏฐัพพะต่างๆ ที่ประณีต ที่น่ารื่นรมย์ แต่ถ้าหมดผลของบุญกุศลเมื่อใดเป็นโอกาสของอกุศลกรรมเมื่อไร ก็จะต้องประสบกับรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพารมณ์ที่ไม่น่ายินดีไม่น่าพอใจ ก็เป็นเหตุให้เศร้าสร้อยน้อยใจโทมนัสขัดเคืองขุ่นแค้นได้ใช่ไหม แต่ไม่เป็นประโยชน์เลย เมื่อทราบว่าไม่เป็นประโยชน์แล้ว ก็ไม่ควรจะเสียใจ ไม่ควรจะโทมนัส ไม่ควรจะน้อยเนื้อต่ำใจ แต่ว่าควรที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของนามธรรม และรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น เพื่อถึงแม้ว่าจะมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้โทมนัสเวทนาเกิดขึ้น ก็ให้เป็นโทนเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะ ถ้าไม่เห็นโทษของโทมนัสเวทนาที่อาศัยเรือน ก็คงจะเป็นไปด้วยความคับแค้นขุ่นเคืองใจ แต่ถ้าได้เห็นประโยชน์ แล้วก็รู้ว่า แม้ว่าจะยังมีเหตุปัจจัยให้เกิดโทมนัสก็ควรจะให้เป็นโทมนัสที่อิงอาศัยเนกขัมมะเถิด อย่าให้เป็นโทมนัสที่อาศัยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพารมณ์เลย อันนั้นก็จะเป็นหนทางที่ทำให้สติระลึกรู้ลักษณะสภาพของแม้ความรู้สึกที่น้อยเนื้อต่ำใจ เศร้าโศกเสียใจ ขุ่นเคืองใจในขณะนั้นได้ ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง แล้วถ้าระลึกรู้ลักษณะของโทมนัสเวทนาในขณะนั้น ะลึกรู้ลักษณะของโสมนัสเวทนา ระลึกรู้ลักษณะของอุเบกขาเวทนา ที่ปรากฏตามความเป็นจริงบ่อยๆ เนือง ปัญญาเจริญขึ้น มากขึ้น จะเป็นโสมนัสเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะได้ไหม จะเป็นโทมนัสเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะได้ไหม ก็ต้องเป็นได้ ก็ยังดีกว่าที่จะให้เป็นโสมนัสเวทนาที่อาศัยเรือน หรือว่าโทมนัสเวทนาที่อาศัยเรือน


    หมายเลข 6223
    31 ก.ค. 2567