อาศัยโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ ละโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโทมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโทมนัสนั้นๆ ได้
เวลาที่มีญาณเกิดขึ้น รู้ความเกิดดับของนาม และรูปแล้ว แต่เพราะตั้งความหวังไว้ในอนุตตรวิโมกข์แล้วไม่บรรลุจึงเกิดโทมนัส ควรละด้วยอย่างไร เพราะว่าโทมนัสเป็นอกุศล เวลาที่เจริญสติ ความรู้สมบูรณ์ขึ้น เป็นญาณขั้นต่างๆ ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของนาม และรูป ญาณเป็นกุศล ไม่ใช่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นเวลาที่มหากุศลเกิดพร้อมกับญาณที่ประจักษ์การเกิดดับของนาม และรูป เป็นโสมนัสเวทนา ในขณะนั้นไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่โทมนัสเวทนา เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้การเกิดขึ้น และดับไป เป็นปัญญาในขณะนั้น แล้วก็ดับ แต่ก็เกิดโทมนัสเวทนา เศร้าสร้อยน้อยใจขึ้น มีความเสียใจต่อไปว่า ไม่ได้บรรลุอนุตตรวิโมกข์ คือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ในเดี๋ยวนั้น ในบัดนั้น ในวันนั้น ในเดือนนั้น ในปีนั้น โทมนัสเวทนาเป็นอกุศล วิธีละโทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ จะละได้อย่างไร เจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูป ประจักษ์การเกิดดับ บ่อยๆ เนืองๆ ขึ้นอีก จึงเป็นโสมนัสเวทนา ถ้าเกิดเศร้าสร้อย หยุดเจริญสติปัฏฐานได้ไหม พอเกิดรู้แจ้งการเกิดดับของนามรูป เป็นโสมนัส เป็นญาณแล้ว จิตก็ดับไป ญาณก็หมดไป จะเกิดโทมนัสเสียใจว่าไม่ได้บรรลุมรรคผล ไม่มีประโยชน์ในขณะนั้นที่จะให้อกุศลจิตเกิด อกุศลจิตแม้เพียงชั่วนิดหน่อย ถึงแม้ว่าจะเป็นโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ พระผู้มีพระภาคก็ยังทรงแสดงหนทางที่จะให้ละโทมนัสเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะนั้น วิธีที่จะละมีทางเดียว คือ เจริญสติรู้ลักษณะของนาม และรูป เพื่อจะได้ประจักษ์การเกิดดับ เป็นญาณที่มั่นคงประกอบด้วยโสมนัสเวทนาต่อไป ไม่ใช่ว่าให้สะดุ้ง ตกใจ ถึงแม้ว่าจะเป็นโทมนัสเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะเกิดขึ้น ก็จะต้องเจริญสติ เพื่อจะได้เป็นโสมนัสเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะ