อาศัยอุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖ ละโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงอุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโสมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโสมนัสนั้นๆ ได้
เรื่องต้องละแม้แต่โสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ ละด้วยอะไร อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะ อุเบกขาในที่นี้ ในปปัญจสูทนี กล่าวว่า ได้แก่อุเบกขาที่สัมปยุตต์ด้วยอุเบกขาญาณ คือญาณที่เกิดก่อนมรรควิถี แต่ท่านใช้คำสั้นๆ ว่า อุเบกขาที่สัมประยุทธ์ด้วยอุเบกขาญาณ เกิดแก่ผู้เช่นนั้นเรียกว่า อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ
ข้อความในปปัญจสูทนี ได้แสดงความหมายของอุเบกขาไว้ว่า อุเบกขาอย่างต่ำได้แก่ อัญญาณอุเบกขา อย่างสูงได้แก่ ฌฬังคุเบกขา ในที่นี้ท่านถือเอา ๒ อย่าง สมถอุเบกขา และวิปัสสนาอุเบกขา โดยมากท่านผู้ฟังที่ศึกษาปรมัตถธรรมคิดว่า ฉฬังคุเบกขาเป็นเฉพาะของพระอรหันต์ใช่ไหม เวลาที่ท่านเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วก็รู้ธรรมารมณ์ทางใจ ท่านก็มีอุเบกขาคือ ไม่เป็นผู้ที่หวั่นไหวไปด้วยอกุศลธรรม เป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะแต่ฉฬังคุเบกขาหมายความถึงอุเบกขาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ประกอบด้วยญาณ ในที่นี้ ก็ไม่ได้หมายเฉพาะแต่พระอรหันต์ที่มีฉฬังคุเบกขา แต่ว่าปกติธรรมดาก็มีได้ แต่สำหรับพระอรหันต์นั้นท่านมีเป็นประจำ ความรู้สึกเสมอกันเหมือนกันในขณะที่ญาณนั้นเป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้ต่างกันเลย แต่สำหรับปุถุชนนั้นไม่ได้เป็นประจำ เป็นครั้งคราว แต่พระอรหันต์เพราะท่านเจริญสติรู้ลักษณะของนาม และรูป จนชินจนทั่ว เป็นปกติจริงๆ ปัญญาของท่านสมบูรณ์รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นขั้นๆ จนไม่สามารถที่จะมีอกุศลธรรมใดๆ ทำให้จิตหวั่นไหวไปด้วยความยินดียินร้ายได้ ไม่ว่าท่านจะเห็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์หรือไม่น่ารื่นรมย์ เป็นฉฬังคุเบกขาทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์นั้นก็เป็นเพียงชั่วคราว เพราะฉะนั้นข้อความในที่นี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นโสมนัสเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะ ก็ควรละด้วยอุเบกขาเวทนาที่อิงอาศัยเนกขัมมะ เพราะหมายถึง อุเบกขาญาณ