การรู้ตัว เป็นการเจริญสติหรือไม่
ท่านผู้ฟังถามว่า
๑. การรู้ตัว เช่น ในขณะที่เดินก็รู้ตัวว่ากำลังเดิน ในขณะที่นั่งก็รู้ตัวว่ากำลังนั่ง ในขณะที่โกรธก็รู้สึกว่ากำลังโกรธ เป็นต้น อย่างนี้เป็นการเจริญสติปัฏฐานหรือไม่ ถ้าไม่ใช่จะต่างกันอย่างไร คือไม่ทราบความต่างกันในขณะที่เดินแล้วก็รู้สึกตัวว่าจะเป็นการเจริญสติปัฏฐานหรือยัง
ข้อสำคัญที่สุดของการเจริญสติปัฏฐานคือ ปัญญา ปัญญานั้นก็ต้องพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏมันไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นในขณะที่เดินแล้วก็รู้ตัวว่ากำลังเดิน รู้กาย หรือว่ารู้เวทนา หรือว่ารู้จิต หรือว่ารู้ธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนั้นหรือไม่ เพราะไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคลที่กำลังเดิน แต่ว่าในขณะที่กำลังเดินนั้นมีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม สำหรับผู้ที่เจริญสติ สติก็ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แล้วต้องรู้ด้วยว่าสิ่งที่กำลังพิจารณาหรือว่ากำลังระลึกรู้ลักษณะนั้นมีลักษณะที่เป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม หรือว่าที่เป็นรูปธรรม อย่าติดเพียงแค่ชื่อว่านาม เพียงแค่ชื่อว่ารูป คำว่า นาม ในภาษาบาลีนั้นหมายความถึง สภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ ซึ่งเป็นสภาพที่รู้ เป็นสภาพที่จำได้ เป็นสภาพที่คิด เป็นสภาพที่รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ในสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นแม้ในขณะที่เดิน ผู้เจริญสติก็ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเป็นกายก็ได้ เป็นเวทนาคือความรู้สึกต่างๆ ก็ได้ เป็นจิตก็ได้ เป็นธรรมก็ได้ แต่หมายความว่าขณะที่เดิน ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนมีปัจจัยที่จะให้หลงลืมสติ ก็หลงลืมสติมากใช่ไหม คือไม่ค่อยจะระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่เพราะเหตุว่าได้ฟังธรรม เห็นประโยชน์ของสติ แล้วก็เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นในขณะที่เดินถึงแม้ว่าจะหลงลืมสติไป สติก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติได้ ไม่ใช่ว่าเพียงเดินก็รู้ว่ากำลังเดิน หรือว่านั่งก็รู้ว่ากำลังนั่ง หรือว่าโกรธก็รู้ตัวว่ากำลังโกรธ เท่านั้นไม่พอ แต่หมายความว่าต้องรู้ลักษณะของนามธรรม รูปธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และการที่รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ หมายความว่าปัญญาจะต้องรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมว่าเป็นเพียงนามธรรม ในสภาพลักษณะสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมว่าเป็นเพียงรูปธรรม เท่านั้น ถ้าที่ตัวของท่านเองไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล มีแต่นามธรรมกับรูปธรรม ท่านจะมีความรู้ไปถึงสภาพวัตถุข้างนอกไหมว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นเพียงรูปธรรม หรือว่าเป็นนามธรรม สามารถที่จะรู้ได้ไหม ถ้าสมมติว่าที่ตัวของท่านเองเคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา แต่เวลาที่สติระลึกรู้ เป็นไปที่กาย ก็มีลักษณะของรูปธรรมปรากฏ เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้าง ที่กายตามปกติ เดินไปตึงบ้างไหมตรงโน้นตรงนี้ นั่งอยู่มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่จะเคลื่อนไหวภายในร่างกายบ้างไหม เวลาที่กลืนอาหารมีอะไรที่ไหวไปบ้างไหมหรือว่าค้างอยู่ ไม่ไหวหรือว่าไม่ไหลลงไป ตามปกติธรรมดาทุกอย่าง สภาพธรรมก็เป็นของจริงที่พิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่สติระลึกเป็นไปก็เป็นไปตามปกติจริงๆ เห็นว่าสภาพลักษณะนั้นเป็นแต่เพียงรูปธรรมลักษณะต่างๆ ถ้าสติระลึกเป็นไปที่กาย เมื่อที่กายของท่านเองแตกย่อยออกไป กระจายด้วยปัญญาที่พิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด รูปธรรมแต่ละชนิด ความเป็นจริงที่ประชุมรวมกันเป็นก้อนเป็นแท่งเป็นสัตว์เป็นบุคคลให้ยึดถือเข้าใจผิดว่าเป็นตัวตนก็หมดไป เพราะฉะนั้นเวลาที่ท่านกระทบสัมผัสวัตถุภายนอกสิ่งอื่น เช่นโต๊ะ เก้าอี้ กระเป๋า ถ้วยแก้ว อะไรก็แล้วแต่ ก็มีแข็ง มีอ่อนเหมือนกันใช่ไหม ความรู้สึกว่ายังคงเป็นสิ่งนั้นก็จะหมดไป เพราะว่าลักษณะของรูปธรรมเท่านั้นที่ปรากฏ แต่ละลักษณะ เพราะฉะนั้นโลกทั้งโลกไม่ใช่เฉพาะแต่ตัวท่านเท่านั้นที่แตกย่อยกระจัดกระจายออกไปเป็นแต่ละรูป แต่ละนามจริงๆ ถ้ายังไม่แตกแยกจะจัดกระจายยังประชุมรวมกันเป็นก้อนเป็นแท่ง ความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ก็ยังอยู่ เพราะฉะนั้นการที่จะถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่ประจักษ์ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรมก็จะมีไม่ได้ แต่ถ้าจะประจักษ์จริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน โลกทั้งหมด ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่วัตถุที่ประชุมรวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เคยยึดถือ แต่ว่าเป็นของจริงแต่ละทาง เช่นทางตา จะเห็นคน เห็นสัตว์ เห็นวัตถุสิ่งของ เห็นวัด เห็นบ้าน เห็นศาลา ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเหมือนกันหมด พอกระทบสัมผัสดู ไม่ว่าจะกระทบสัมผัสบุคคล วัตถุสิ่งของ ก็เป็นแต่เพียงสภาพที่อ่อน เป็นแต่เพียงสภาพที่แข็ง หรือตึง หรือไหว กระจัดกระจายแยกทั้งโลกไม่ใช่แต่เฉพาะที่ท่านยึดถือว่าเป็นตัวท่าน แต่ว่าเป็นการรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพของนามธรรมรูปธรรม ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วประจักษ์ว่า สภาพธรรมเหล่านั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น จึงจะชื่อว่าเป็นการเจริญสติปัฏฐาน